เสียงแห่งความเงียบ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

เสียงแห่งความเงียบ่

อาการเสียงดังในหูจะยิ่งแย่ลงตามปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • การได้ยินเสียงดัง (Loud noise exposure) - ซึ่งเป็นการทำร้ายเซลล์รับรู้เสียงที่ส่งไปยังสมอง โดยเฉพาะพวกคนงานก่อสร้าง นักดนตรี และทหาร มักมีปัญหาด้านนี้
  • อายุ – เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของประสาทหูจะเสื่อมลง
  • เพศ – ผู้ชายมักมีอาการเสียงดังในหูมากกว่าผู้หญิง
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน

ปัจจุบันเป้าหมายในการรักษาอาการเสียงดังในหูก็คือ ทำให้คนที่เป็น รู้สึกสบาย ไม่เป็นภาระ และยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพราะยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่ได้ผลรับรองได้ทีเดียว นอกจากนี้การรักษาในแต่ละคนก็แตกต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ดีมีหลายวิธีที่ช่วยลดภาระของคนที่มีอาการให้ดีขึ้นบ้าง เช่น

การกินอาหารที่มีประโยชน์ – จะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง ความดันโลหิตและน้ำหนักลดลง เลือดหมุนเวียนดี อารมณ์ดี โดยคนที่มีอาการเสียงดังและคนที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันควรกินอาหารเค็มให้น้อยลง หรือลดการดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ที่อาจมีผลต่อคนบ้างคนด้วย

ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีอารมณ์ดี คลายความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเสียงดังในหู

เข้าร่วมกิจกรรมสังคม (Social Activity) กับเพื่อน ครอบครัว จะช่วยให้อาการน้อยลง เพราะการแยกตัวเองออก แล้วพะวงแต่เรื่องเสียงดังในหูเพียงอย่างเดียว จะทำให้อาการแย่ลง

การใช้เครื่องสร้างเสียงเลียนแบบธรรมชาติ (White noise machines) เช่น เสียงฝนตก เสียงทะเล เป็นต้น หรืออาจใช้เสียงพัดลม เครื่องทำความชื้น (Humidifiers) และเครื่องปรับอากาศ ในห้องนอนเป็นตัวช่วยกลบเสียงในหูเวลานอนก็ได้

การใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) ในปี พ.ศ.2550 ได้มีการสำรวจผู้ที่มีอาการเสียงดังและพบว่า ประมาณร้อยละ 22 ของผู้ที่มีอาการจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อใช้เครื่องช่วยฟัง

การใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Masking devices ใส่ในหูเช่นเดียวกับเครื่องช่วยฟัง โดยอุปกรณ์นี้จะผลิตเสียงต่ำ (Low-level white noise) ที่คอยยับยั้งอาการเสียงดังในหู

การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear implants) ซึ่งใช้หลักการทำงานเดียวกับเครื่องช่วยฟัง กล่าวคือ เพิ่มเสียงด้านนอก ช่วยเบี่ยงเบนสมองในการรับรู้เสียงดังในหูได้ วิธีนี้มักใช้กับผู้ที่มีหูตึงทั้ง 2 ข้าง

บางครั้งอาการเสียงดังในหูก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่ก็มีวิธีการป้องกันบางอย่างที่ช่วยได้บ้าง ได้แก่

  • ใช้สิ่งป้องกันการได้ยิน (Hearing protection) โดยเฉพาะเสียงดังที่สามารถทำลายระบบประสาทในหู ทำให้สูญเสียการได้ยินและมีอาการเสียงดังในหู
  • ลดเสียงลง กรณีที่มีการฟังเพลงอย่าฟังเสียงดังเกิน
  • ดูแลรักษาระบบหลอดเลือดและหัวใจ ด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ระบบเลือดทำงานปกติ

แหล่งข้อมูล

  1. Tinnitus. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tinnitus/basics/definition/con-20021487 [2015, May 27].
  2. Understanding Tinnitus -- the Basics. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-tinnitus-basics [2015, May 27].
  3. Treatment Options. https://www.ata.org/managing-your-tinnitus/treatment-options [2015, May 27].