เวย์โปรตีน (Whey protein)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

นมวัว จัดว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์นานัปการกับมนุษย์ ในน้ำนมวัวยังมีส่วนประกอบของโปรตีนอยู่ 2 ประเภท คือ เคซีน(Casein, คือโปรตีนส่วนใหญ่ในน้ำนมวัวที่รวมแร่ธาตุสำคัญ คือ แคลเซียมและฟอสฟอรัส)พบได้ประมาณ 80% และเวย์(Whey แปลว่า หางนม)อีก 20% สำหรับเวย์หรือหางนม ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. แอซิดเวย์ (Acid whey) เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว ลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองมีฤทธิ์เป็นกรด แอซิดเวย์ประกอบด้วย น้ำตาลแลคโตส แร่ธาตุต่างๆ กรดแลคติก(Lactic acid) และสามารถนำแอซิดเวย์ไปผสมกับอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงสุกรและแกะ

2. สวีทเวย์ (Sweet whey) เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเนยแข็ง หางนมประเภทนี้จะมีน้ำตาลแลคโตส(Lactose)เป็นองค์ประกอบมากกว่าใน แอซิดเวย์ นอกจากนี้ยังมี โปรตีนเวย์ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและถูกนำมาเป็นส่วนประกอบใน อาหารเสริม และอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเวย์หรือหางนมชนิดนี้ยังสามารถนำมาใช้ปรุงแต่งอาหารเพื่อการบริโภคของคนเรา โดยผลิตออกมาในลักษณะ เวย์ชีส(Whey cheeses) ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆเช่น Ricotta, Brunost และ Whey butter

ทั้งนี้ด้วยคุณประโยชน์จากโปรตีนที่มีอยู่ในหางนม ประกอบกับมีปริมาณไขมันต่ำ ทำให้เวย์/หางนมถูกใช้เป็นส่วนประกอบใน ขนมปัง ขนมปังกรอบ ขนมปังปิ้ง ตลอดจนใช้ผสมเป็นอาหารเสริมทั้งกับคนและสัตว์

โปรตีนเวย์คืออะไร?

เวย์โปรตีน์

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า “โปรตีนเวย์ หรือ เวย์โปรตีน หรือ โปรตีนหางนม(Whey protein) ที่มีอยู่ในน้ำนม เป็นโปรตีนที่มีลักษณะค่อนข้างกลม(Globular proteins) มีขนาดเล็ก สามารถแขวนลอยในน้ำได้ดี หรือที่เราเรียกว่า คอลลอยด์(Colloids) หากนำโปรตีนเวย์มาแยกองค์ประกอบจะได้โปรตีนอีก 3 ชนิด คือ Beta-lactoglobulin 65%, Alpha-lactalbumin 25% และ Serum albumin 8%

กลุ่มโปรตีนทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวยังมีองค์ประกอบของกรดอะมิโน ที่จำเป็นกับร่างกายถึง 9 ชนิด ด้วยโปรตีนเวย์จัดเป็นสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจึงนำโปรตีนเวย์มาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ รวมถึงอาหารเสริมทางการแพทย์ ซึ่งมักจะนำมาใช้กับผู้ที่มีสภาพร่างกายขาดสารอาหาร แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคบางกลุ่มอาจแพ้โปรตีนเวย์ได้เช่นกัน

โปรตีนเวย์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

โปรตีนเวย์ ที่ผลิตออกมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. คอนเซนเทรด(Concentrates) เป็นโปรตีนเวย์ที่มี ระดับไขมัน และมีคอเลสเตอรอลต่ำ หากนำไปเปรียบเทียบกับโปรตีนเวย์อื่นๆ จะพบว่า คอนเซนเทรดเป็นโปรตีนเวย์ที่มีน้ำตาลแลคโตสมากที่สุด และมีส่วนประกอบของโปรตีน 29–89%

2. ไอโซเลท (Isolates) เป็นโปรตีนเวย์ที่สกัดเอาน้ำตาลแลคโตสและไขมันออกไป จึงมีสัดส่วนของโปรตีนมากกว่า 90% ขึ้นไป

3. ไฮโดรไลเซท(Hydrolysates) เป็นโปรตีนเวย์ที่ถูกแปลงสภาพโดยใช้กระบวนการไฮโดรไลซ์ หรือใช้น้ำเป็นกลไกสำคัญเพื่อแยกโปรตีนออกเป็นโมเลกุลที่เล็กลงมา ข้อดีของโปรตีนเวย์ประเภทนี้คือ ร่างกายนำไปใช้งานได้รวดเร็วและไม่ค่อยพบปัญหาการทำให้เกิดอาการแพ้ แต่ก็มีข้อเสียคือ ราคาจะแพงกว่าโปรตีนเวย์ประเภทอื่น

4. เนทีฟโปรตีนเวย์(Native whey protein) เป็นโปรตีนเวย์ที่สกัดแยกมาจากนมไขมันต่ำหรือที่เรียกติดปากว่านมพร่องมันเนย และไม่ใช่โปรตีนเวย์ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตเนย

ประโยชน์จากโปรตีนเวย์มีอะไรบ้าง?

ในแวดวงอาหารทางสุขภาพ มีการนำโปรตีนเวย์มาวิเคราะห์ และทำการวิจัยคุณประโยชน์ต่อร่างกายอยู่หลายประการ แต่การใช้โปรตีนเวย์ให้เกิดประโยชน์แท้จริงจะต้องประกอบด้วยการควบคุมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนอย่างเหมาะสม

ประโยชน์ของโปรตีนเวย์ที่พบเห็นการนำมาใช้ในการบำรุงสุขภาพ มีดังนี้ เช่น

  • ใช้เป็นสารอาหารของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักและกำจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยหันมาบริโภคอาหารอย่างมีสัดส่วนเหมาะสม เน้นสารอาหาร อย่างเช่น โปรตีน เพื่อสร้างมวลของกล้ามเนื้อขึ้นมาแทนที่เซลล์ไขมัน และเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วน
  • มีงานวิจัยที่กล่าวถึงสารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่ง คือ กลูตาไธโอน(Glutathione) ซึ่งเป็นสารชีวะสังเคราะห์ที่มีประโยชน์ต่อการซ่อมแซมสารพันธุกรรมอย่าง DNA ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกัน ตลอดจนกระทั่งอาจชะลอการเป็นมะเร็ง ในโปรตีนเวย์มีกรดอะมิโนสำคัญที่ชื่อว่า ซีสเตอีน(Cysteine) ร่างกายใช้ซีสเตอีนเป็นองค์ประกอบในการสังเคราะห์กลูตาไธโอนอีกทีหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า โปรตีนเวย์เป็นสารอาหารที่อาจช่วยต้านมะเร็งโดยทางอ้อม
  • โปรตีนเวย์ ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล และแอลดีแอล/LDL คอเลสเตอรอล มีการตีพิมพ์ในวารสารของอังกฤษ(The British Journal of Nutrition) โดยการ ทดลองให้โปรตีนเวย์กับอาสาสมัครที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่าอาสาสมัครที่บริโภค โปรตีนเวย์ประกอบกับการควบคุมการรับประทานอาหาร ช่วยให้ระดับไขมันในเลือดลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • โปรตีนเวย์ถูกนำมาศึกษาในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดพบว่า ช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งภูมิคุ้มกันมีสารอาหารประเภทโปรตีนเป็นตัวสนับสนุน เด็กที่ป่วยด้วยโรคหืดและได้รับโปรตีนเวย์อย่างถูกต้อง ประกอบกับมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะทำให้อาการหอบหืดลดความรุนแรงลง จึงทำให้มีแนวคิดที่จะใช้โปรตีนเวย์ช่วยบรรเทาอาการโรคหืดด้วยเช่นกัน
  • มีการทดลองใช้โปรตีนเวย์ที่ผลิตเป็นเครื่องดื่ม นำไปบำบัดอาการโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มวัยรุ่นชาย-หญิง ภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่ผู้ร่วมทดลองรับประทานโปรตีนเวย์ 28 กรัม/วัน พบว่าสามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงได้ดีระดับหนึ่ง โดยความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัวและคลายตัวจะลดลง 8 และ 8.6 มิลลิเมตรปรอทตามลำดับ
  • โปรตีนเวย์กับผู้ป่วยโรคเอชไอวี โดยใช้ในลักษณะของอาหารเสริมซึ่งอาจจะช่วย ป้องกันมิให้ผู้ป่วยเอชไอวีมีร่างกายทรุดโทรมและผอมจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม การนำโปรตีนเวย์มาบริโภคด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นในด้านคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากผู้เชี่ยวชาญอาทิ โภชนากร หรือแพทย์ด้านอายุรวัฒน์/เวชศาสตร์ครอบครัว

โปรตีนเวย์สามารถสร้างผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?

ผลข้างเคียงจากเวย์โปรตีน คือ ผู้บริโภคบางรายที่มีประวัติแพ้นมวัว ก็อาจแพ้โปรตีนเวย์ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว มักไม่ค่อยพบเห็นการแพ้โปรตีนเวย์มากนัก ทั้งนี้ อาจสรุปผลข้างเคียงจากโปรตีนเวย์ได้ดังนี้

  • มีอาการปวดท้อง
  • เป็นตะคริว
  • รู้สึกเบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • เคยมีรายงานพบว่า การบริโภคโปรตีนเวย์มากเกินไป นอกจากร่างกายต้องกำจัดทิ้งไปทางไตแล้ว ยังอาจทำให้เกิดสิวขึ้นด้วย

โปรตีนเวย์มีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดบ้าง?

ตัวอย่างโปรตีนเวย์ที่มีจำหน่ายภายในประเทศไทย ดังนี้ Ultrapro, Vistra wheyprotein, Herbalife 24 Whey Protein, Proflex, Hulk, Musashi whey protein isolate, PROFLEX CONCENTRATE, PROFLEX DIVA, Universal Ultra Whey Protein, WWL WHEY PROTEIN, My Whey

*ทั้งนี้ การจะเลือกใช้โปรตีนเวย์ซึ่งมีถึง 4 ประเภท ก่อนซื้อกลับบ้าน ควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ว่า เป็นโปรตีนเวย์ประเภทใด ตรงกับความต้องการของตนเองหรือไม่ ซึ่งเราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายโปรตีนเวย์ตามร้านขายยาชั้นนำ หรือตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Whey [2018,July7]
  2. http://www.differencebetween.info/difference-between-cheese-and-butter [2018,July7]
  3. https://www.google.co.th/search?q=whey+type+diagram&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwistLC6tbPbAhUMXSsKHVPWCncQsAQIJQ&biw=1920&bih=949#imgrc=kT3kcTjqXEgQ7M: [2018,July7]
  4. https://www.google.co.th/search?q=whey+type+diagram&tbm=isch&tbs=rimg:CZE95HE46lxIIjhqg8HKdsELPz2MjtE-l5BK_1-U2TeXeWyW6IQdS4k4TXx4qs325uDzRq92tsI9LZzfTlh_1ZpNmo6yoSCWqDwcp2wQs_1ESH3A3rUtvCDKhIJPYyO0T6XkEoRwx3ADkMMhTQqEgn_15TZN5d5bJRFb3VSPGurhHioSCbohB1LiThNfEd2jEv9T_12rKKhIJHiqzfbm4PNEREFzTuVnDq14qEgmr3a2wj0tnNxHhQxZih5tMoCoSCdOWH9mk2ajrEY9s_1eX5edw3&tbo=u&sa=X&ved=2ahUKEwi2kOy8tbPbAhXDvY8KHQN-DnsQ9C96BAgBEBs&biw=1920&bih=949&dpr=1#imgrc=W4XT_5X5CRwVnM: [2018,July7]
  5. http://mooscience.com/Acid-Whey-FAQ.html [2018,July7]
  6. http://www.kaskat.com/en/sweet-whey-powder/ [2018,July7]
  7. https://www.medicalnewstoday.com/articles/263371.php [2018,July7]
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2289832/ [2018,July7]
  9. https://immunogsh.merxmotion.com/images/aArticle_03.pdf [2018,July7]
  10. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11205219 [2018,July7]
  11. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20377924 [2018,July7]
  12. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17127471?dopt=AbstractPlus [2018,July7]
  13. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S095869461000141X [2018,July7]
  14. https://immunogsh.merxmotion.com/images/aArticle_03.pdf [2018,July7]
  15. https://promotions.co.th/%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%86/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/10-%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD-whey-protein-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89-%E0%B8%A1%E0%B8%B5-%E0%B8%AD.html [2018,July7]