เวย์โปรตีน ตอน 3 การใช้เวย์โปรตีนในทางการแพทย์

เวย์โปรตีนตอน-3

      

      พบว่ามีการนำเวย์โปรตีนมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคต่างๆ เสริมสร้างภาวะโภชนาการ อาทิ

- โรคอ้วน

      จากข้อมูล Systematic Review และ Meta-Analysis ล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of the American College of Nutrition ปี 2018 พบว่า การรับประทานเวย์โปรตีนเสริม ช่วยลดน้ำหนักตัวและมวลไขมันได้ (9 RCTs) โดยกลไกลนั้นอาจเนื่องมาจากเวย์โปรตีนช่วยยับยั้งฮอร์โมน Ghrelin ทำให้ความหิวลดลง กระตุ้นฮอร์โมน CCK และ GLP-1 ทำให้อิ่มได้นาน เป็นผลให้การบริโภคอาหาร (Food intake) ลดลง และช่วยกระตุ้นกระบวนการ thermogenesis นอกจากนี้เวย์โปรตีนยังมีผลในการช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายมีปริมารไมโตคอนเดรียเพิ่มมากขึ้น กระบวนการเผาผลาญสารอาหาร หรือ Metabolism

- โรคหัวใจและหลอดเลือด

      จากข้อมูล Systematic Review และ Meta-Analysis (9 RCTs) ปี 2018 พบว่า การรับประทานเวย์โปรตีนเสริมช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด นอกจากนี้เวย์โปรตีนยังช่วยลดภาวการณ์อักเสบเรื้อรังและออกซิเดทีฟสเตรสได้อีกด้วย

- โรคตับอักเสบ

      จากข้อมูลการศึกษาวิจัยหลายการศึกษาพบว่า Lactoferrin ที่อยู่ในเวย์โปรตีน อาจช่วยลดระดับของ Hepatitis C virus (HCV) RNA ในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ C นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า การให้เวย์โปรตีนเสริมในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ B ช่วยลดระดับ Lipid peroxidase และ serum alanine transferase ช่วยพิ่มระดับ IL-2 และการทำงานของ NK cell รวมทั้งระดับกลูต้าไธโอนในเลือดได้

- โรคเอดส์

      จากจข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่า การให้เวย์โปรตีนเสริมในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV สามารถเพิ่มระดับกลูต้าไธโอน ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนลงได้ นอกจากนี้มีการศึกษาวิจัยทางคลินิก ในปี 2016 พบว่าการให้เวย์โปรตีนเสริมร่วมกับการรักษา ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

- โรคมะเร็ง

      จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า การให้เวย์โปรตีนเสริมในผู้ป่วยมะเร็ง ช่วยเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในเซลล์ปกติ และลดระดับกลูต้าไธโอนในเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเวย์โปรตีนช่วยในการทำงานของ NK cell และเพิ่มระดับ Hb, Hct รวมทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

- ผู้สูงอายุ

      จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า การให้เวย์โปรตีนเสริมประมาณ 20 กรัม/วัน เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ในผู้สูงอายุ ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์กล้ามเนื้อหลังอาหาร (postprandial muscle protein synthesis) และเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้ (muscle mass) และการศึกษาวิจัยในปี 2017 พบว่าการให้เวย์โปรตีนเสริมในผู้สูงอายุ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้

      

      เวย์โปรตีนเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ย่อยง่าย ดูดซึมได้เร็ว รับประทานง่าย สามารถเสริมสร้างภาวะโภชนาการในกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องขาดโปรตีนได้เป็นอย่างดี ดิฉันจึงได้ทำการคิดค้น ดัดแปลงเมนูอาหารที่ใช้เวย์โปรตีนเป็นส่วนประกอบทั้งอาหารประเภทคาว หวาน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับบุคคลทั่วไปที่ดูแลใส่ใจสุขภาพ หรือผู้ป่วยกลุ่มโรคต่างๆ ที่รับประทานอาหารทางปาก (Oral) หรือผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นที่รับประทานอาหารทางสายให้อาหาร (Tube feeding) ในตอนถัดไป

      

แหล่งข้อมูล:

  1. เอกราช บำรุงพืช. (2561). Therapeutic Appplications of Whey Protein:From Research to Clinical Use. ว.สารสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย. ปีที่ 38.(ฉบับที่ 1-3 มกราคม-ธันวาคม):136-137:348.