เวนลาฟาซีน (Venlafaxine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 เวนลาฟาซีน (Venlafaxine)  คือ ยารักษาอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า ถูกจัดหมวดหมู่อยู่ในกลุ่มยา Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทประเภท เซโรโทนิน (Serotonin) และ Norepinephrine ออกมาได้มากขึ้น ยานี้ถูกเปิดตัวครั้งแรกโดยบริษัทยา Wyeth ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) และจัดจำหน่ายโดยบริษัท Pfizer มีการระบุสรรพคุณการรักษาเพิ่มเติมจากยาต้านเศร้าว่า ช่วยคลายความวิตกกังวลรวมถึงความกังวลต่อการเข้าสังคมอีกด้วย หากเปรียบเทียบยานี้กับยาต้านเศร้ากลุ่มอื่น เช่นยา  ยารักษาโรคซึมเศร้า(TCAs), เอมเอโอไอ(MAOIs), ยา Bupropion รวมถึงยาในกลุ่ม SSRIs พบว่ายาเวนลาฟาซีนมีความปลอดภัยและความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายน้อยกว่ายากลุ่มอื่น

 อนึ่ง ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้ป่วยควรทราบก่อนเริ่มใช้ยาชนิดนี้ เช่น

  • ต้องไม่เป็นโรคต้อกระจกที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้
  • ต้องไม่แพ้ยาชนิดนี้
  • ต้องไม่มีการใช้ยากลุ่ม MAOIs อย่างน้อย 14 วันก่อนจะใช้ยาเวนลาฟาซีนด้วยจะเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยาและส่งผลเสียต่อผู้ป่วยติดตามมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วยยานี้จะกระตุ้นความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง

 อีกประการ กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ทั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับตัวยาเวนลาฟาซีนอาจกระตุ้นหรือทำให้โรคประจำตัวเหล่านั้นมีอาการรุนแรงขึ้นมา หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวดังกล่าว

กลุ่มโรคที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้ได้แก่ โรคอารมณ์สองขั้ว โรคตับแข็งหรือพยาธิสภาพของตับ โรคไต   โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคความดันโลหิตสูง  โรคไขมันในเลือดสูง  โรคเบาหวาน  โรคไทรอยด์  โรคลมชัก มีภาวะต่างๆของโรคเลือด มีเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ  อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดา

การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง การใช้ยากับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจต้องใช้เวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา และหากอาการไม่ดีขึ้นควรต้องปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นได้ของยาเวนลาฟาซีนจะเป็นยาชนิดรับประทาน มีการดูดซึม     จากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวในร่างกายได้ประมาณ 27 - 57% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนก่อนที่จะถูกลำเลียงไปเผาผลาญและเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ทั้งตัวยาที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีแล้วจะถูกขับออกจากร่างกายไปกับปัสสาวะ

ยาเวนลาฟาซีน จัดเป็นยาประเภทยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง หรือแม้แต่การใช้กับผู้ ป่วยที่มีโรคประจำตัวย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้ยานี้อย่างเหมาะสมปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เวนลาฟาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ยาเวนลาฟาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น     

  • รักษาภาวะ/โรคซึมเศร้า (Depression)
  • รักษาอาการ/โรควิตกกังวล (Anxiety)
  • รักษาอาการกังวลต่อการเข้าสังคม (Social phobia)
  • รักษาอาการตื่นตระหนก (Panic disorder)

เวนลาฟาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเวนลาฟาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาทในสมองหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์/จิตใจเช่น ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin และ Norepinephrine นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ชะลอการดูดกลับสารสื่อประสาท Dopamine ได้เล็กน้อย รวม ถึงทำให้ร่างกายลดการตอบสนองกับสารสื่อประสาท Beta-adrenergic อีกด้วย จากกลไกข้างต้น ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ    

เวนลาฟาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเวนลาฟาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 37.5, 75 และ 150 มิลลิกรัม/แคปซูล        

เวนลาฟาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเวนลาฟาซีนมีขนาดรับประทานแตกต่างกันในแต่ละอาการ/ภาวะและความรุนแรงของอาการ ดังนั้นขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาในกรณีทั่วไปใน ภาวะ/โรคซึมเศร้า, ภาวะ/โรควิตกกังวล และอาการตื่นตระหนก  เช่น     

ก.สำหรับภาวะซึมเศร้า: เช่น ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 75 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นครั้งละ 75 มิลลิกรัมทุกๆ 4 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดอยู่ที่ 225 มิลลิกรัม/วัน กรณีที่มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานได้ถึง 375 มิลลิกรัม/วัน

ข.สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล: เช่น  ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานเริ่มต้น 75 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาเป็นลำดับครั้งละ 75 มิลลิกรัมในทุกๆ 4 วันโดยขนาดรับประทานสูง สุดอยู่ที่ 225 มิลลิกรัม/วัน

ค.สำหรับรักษาอาการตื่นตระหนก: เช่น  ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 37.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานครั้งละ 75 มิลลิกรัมทุกๆ 7 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 225 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง:

  • สำหรับขนาดรับประทานในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่รุนแรงจนถึงระดับกลางให้ลดขนาดรับประทา 25 - 50%
  • ผู้ป่วยโรคตับในระดับไม่รุนแรงจนถึงระดับกลางให้ลดขนาดรับประทานลง 50%
  • ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับขั้นรุนแรง: การใช้ยานี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณี ไป
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการนำยานี้มาใช้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วย กลุ่มอายุดังกล่าวจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเวนลาฟาซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเวนลาฟาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาเวนลาฟาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เวนลาฟาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาเวนลาฟาซีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น   

  • มีอาการหนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • ผิวหนังบวมคล้ายลมพิษ
  • ผิวแพ้แสงแดดง่าย
  • ใบหน้าแดง
  • ความดันโลหิตสูง
  • ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • อาจมีความดันโลหิตต่ำ
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • ซีด
  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • ระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูงขึ้น
  • น้ำหนักตัวลด
  • ตับอักเสบ
  • ผู้ป่วยบางรายมีอาการกล้ามเนื้อลายสลาย
  • นอกจากนี้ ยังพบอาการอื่นๆ เช่น ปวดหัว, ฝันแปลกๆ, วิงเวียน, ปากคอแห้ง, นอนไม่หลับ, ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน, เหงื่อออกมาก,เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ, มีผื่นคัน, หูอื้อ, ตาพร่า,  ปัสสาวะขัด   

มีข้อควรระวังการใช้เวนลาฟาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเวนลาฟาซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • หยุดการใช้ยานี้หากพบว่าผู้ป่วยมีอารมณ์ก้าวร้าวเกิดขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยที่มีประวัติด้วยโรคลมชัก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเวนลาฟาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เวนลาฟาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเวนลาฟาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเวนลาฟาซีน ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยจะทำให้เกิดอาการตัวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้าแดง วิงเวียน อุณหภูมิร่างกายสูงคล้ายมีไข้ มีอาการชักจนอาจถึงขั้นตายได้
  • การใช้ยาเวนลาฟาซีน ร่วมกับยา Dextromethorphan, Fentanyl, Tryptophan (ยา/อาหารเสริมที่ช่วยด้านอารมณ์/จิตใจ), Ergotamine อาจเกิดความเสี่ยงก่อให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) โดยมีอาการสับสน ประสาทหลอน ชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเวนลาฟาซีน ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดภาวะวิงเวียน  ง่วงนอนมาก และการครองสติทำได้ยาก
  • การใช้ยาเวนลาฟาซีน ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้มีอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้นเช่น มี    อาการวิงเวียน ง่วงนอน การตัดสินใจช้า หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเวนลาฟาซีนอย่างไร?

 ควรเก็บยาเวนลาฟาซีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น

เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เวนลาฟาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเวนลาฟาซีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Efexor XR (เอฟเฟ็กเซอร์ เอ็กซ์อาร์) Pfizer
Valosine SR (วาโลซีน เอ็กซ์อาร์) Standard Chem & Pharm

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Venlafaxine [2022,June25]
  2. https://www.drugs.com/venlafaxine.html [2022,June25]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Efexor%20XR/?type=full [2022,June25]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/venlafaxine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,June25]