เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

สำหรับหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นสถานที่ที่ตรวจโรคมะเร็งด้วยเครื่องสเปค/ซีที 16 สไลด์ เครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยสามารถให้รายละเอียดของภาพซีที เท่ากับเครื่องรุ่น 64 สไลด์ โดยมีความแม่นยำและมีความไวในการตรวจสูง รวมทั้งมีเทคนิคช่วยลดการใช้ปริมาณรังสีต่อผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ยังมีเครื่องไทรอยด์อัพเทค (Thyroid uptake) ที่ใช้ตรวจเพื่อคำนวณปริมาณรังสีในการรักษาผู้ป่วยและคำนวณปริมาณรังสีใน ร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อตรวจสอบระดับปริมาณรังสีให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย รวมถึงห้องฮอตแล็บ (Hot lab) เพื่อใช้ในการเตรียมสารเภสัชรังสีในตรวจวินิจฉัยและรักษา และห้องทรีตเม้นท์ (Treatment) ที่เป็นห้องเตรียมผู้ป่วยเพื่อรับรังสี

ในหลายแห่งจะมีการใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ควบคู่กับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีที(Computed tomography = CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI) เพื่อให้เห็นภาพเฉพาะได้ ภาพเหล่านี้จะให้ข้อมูลจากการทดสอบ 2 อย่างที่แตกต่างกัน แต่สัมพันธ์กันและแปลผลออกมาเป็นภาพเดียว ซึ่งช่วยให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตเครื่องได้สร้างเครื่องถ่ายภาพ SPECT/CT (Single photon emission computed tomography/Computed tomography) และเครื่องถ่ายภาพ PET/CT (Positron emission tomography/Computed tomography) ที่สามารถประมวลภาพได้ในเวลาเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพในปัจจุบัน มีเพียงกรณีของเครื่องถ่ายภาพ PET/MRI (Positron emission tomography/ Magnetic resonance imaging) เท่านั้น ที่ยังไม่พร้อมใช้งาน

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ยังใช้ในการรักษาโรคได้ เช่น การรักษาโดยให้สารกัมมันตภาพรังสี ไอโอดีน 131 (Radioactive iodine (I-131) therapy) ซึ่งเป็นการให้สารกัมมันตภาพรังสีในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อรักษาโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์

วิธีการดังกล่าวเป็นผลจากการที่แพทย์ได้ค้นพบว่า เมื่อไอโอดีนเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ต่อมไทรอยด์ที่คอ จึงลองใส่ไอโอดีน 131 เข้าในร่างกาย ไอโอดีน 131 จะไปเกาะอยู่ที่ต่อมไทรอยด์และปล่อยรังสีแกมมาออกมา เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ได้ เป็นการรักษามะเร็งได้อีกทางหนึ่ง

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด อาจใช้การรักษาโดยใช้สารกัมมันตภาพรังสี (Radioimmunotherapy = RIT) ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งเฉพาะที่รวมวิธีการรักษาด้วยรังสีกับวิธีรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เข้าด้วยกัน เป็นการรักษาที่ใช้การเลียนแบบการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์

ในอนาคตเวชศาสตร์นิวเคลียร์อาจกระตุ้นให้เกิดวิธีการรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า เวชศาสตร์ระดับโมเลกุล (Molecular medicine) ก็ได้ การเข้าใจกระบวนการทางชีววิทยาในเซลล์ของอวัยวะ การทดสอบเฉพาะต่างๆ อาจช่วยในการสร้างมโนภาพ การอธิบายลักษณะ การแสดงปริมาณ ของกระบวนการทางชีววิทยาในระดับเซลล์และระดับย่อยของเซลล์ เวชศาสตร์นิวเคลียร์อาจช่วยทำให้เกิดการปรับหลักการใหม่ๆ ของเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล ทั้งนี้เพราะเวชศาสตร์นิวเคลียร์เน้นการทำงานและการใช้ภาพ (Imaging) ที่เหมาะกับกระบวนการเกิดโรคบางอย่าง

แหล่งข้อมูล:

  1. ทรงเปิด “หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์”เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง http://www.dailynews.co.th/society/158278 [2012, October 15].
  2. Nuclear medicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_medicine [2012, October 15].
  3. What is General Nuclear Medicine? http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=gennuclear [2012, October 15].