เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ตอนที่ 2)

รศ. พญ. ชนิสา โชติพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์และหัวหน้าฝ่ายเวชศาสตร์ รพ.จุฬาภรณ์ รายงานว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นศาสตร์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ

ในการตรวจวินิจฉัยดังกล่าว มีการเตรียมสารเภสัชรังสีให้เหมาะสมกับการตรวจโรคแต่ละชนิด คำนวณขนาดรังสีที่จะให้แก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม และต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ปลอดเชื้อ โดยกินหรือฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วศึกษาการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ รวมทั้งกลไกพยาธิสรีรวิทยาอย่างละเอียด ด้วยการถ่ายภาพด้วยเครื่องมือตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบ 2 มิติ และ 3 มิติ หรือสเปค/ซีที ที่ตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ

เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นการวินิจฉัยและรักษาเฉพาะ ที่ใช้กัมมันตรังสีในการวินิจฉัยและรักษาโรค ในขั้นตอนของเวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีที่แตกตัวและปล่อยพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา (Radionuclides) จะรวมตัวกับธาตุอื่นเพื่อสร้างส่วนประกอบทางเคมีที่เรียกว่า เภสัชรังสี (Radiopharmaceuticals) เมื่อมีการให้เภสัชรังสีกับผู้ป่วย เราสามารถจำกัดการให้รังสีเฉพาะส่วน เฉพาะอวัยวะ หรือเฉพาะเซลล์ก็ได้

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของเภสัชรังสี ทำให้แพทยย์สามารถดูกระบวนการเกิดโรคในร่างกายได้ โดยดูจากการทำงานของเซลล์และกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย (Physiology) เป็นหลัก แทนที่จะดูจากการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ เวชศาสตร์นิวเคลียร์สามารถบอกได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ของโรคบางโรคได้ดีกว่าการทดสอบด้านอื่นๆ ด้วย

เราสามารถกล่าวได้ว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นรังสีที่แผ่ออกจากภายในร่างกาย (Radiology done inside out/endo-radiology) มากกว่ารังสีที่เกิดจากแหล่งภายนอกอย่างรังสีเอกซเรย์ เข้าสู่ร่างกาย โดยไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และปริมาณรังสี อาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริมาณปกติ ขึ้นกับชนิดของการวิเคราะห์

ในการแสดงภาพของเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เภสัชรังสีจะทำให้เกิดภาพจากรังสีที่มีต้นกำเนิดภายในร่างกาย เช่น ภายในหลอดเลือดดำ หรือภายในช่องปาก รังสีที่ออกมาจะถูกตรวจจับด้วยกล้องรังสีแกมมา (Gamma camera) ทำให้สามารถมองเห็นอวัยวะด้วยมุมต่างๆ ได้หลายมุม

กล้องจะถ่ายภาพแต่ละจุดที่มีรังสีออกมา ภาพที่เกิดขึ้นสามารถปรับได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นและระบุความผิดปกติได้ ขั้นตอนนี้ไม่เหมือนการถ่ายภาพด้วยเอ็กซเรย์ซึ่งรังสีจะฉายผ่านร่างกายแล้วค่อยทำให้เกิดภาพตามมา

ในการวิเคราะห์โรค เวชศาสตร์นิวเคลียร์จะต่างจากวิธีการเดิมๆ เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging : MRI) กล่าวคือ เวชศาสตร์นิวเคลียร์สามารถศึกษาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อเฉพาะที่ได้มากกว่า

ตัวอย่างการศึกษาดังกล่าวได้แก่ การตรวจเฉพาะที่ปอด หัวใจ กระดูก สมอง เป็นต้น ในขณะที่รังสีวินิจฉัยแบบเดิมๆ จะเน้นไปที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น การเอ็กซเรย์หน้าอก การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้อง เชิงกราน หรือส่วนศีรษะ เป็นต้น นอกจากนี้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ยังสามารถถ่ายภาพร่างกายได้ทั้งตัวด้วย เช่น PET scan หรือ PET/CT scans (Positron Emission Tomography Scan)

แหล่งข้อมูล:

  1. ทรงเปิด “หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์”เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง http://www.dailynews.co.th/society/158278 [2012, October 12].
  2. Nuclear medicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_medicine [2012, October 12].