เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ตอนที่ 1)

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เปิด “หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์” เพื่อให้เป็นสถานที่ตรวจรักษาโรคมะเร็งด้วยเครื่องสเปค/ซีที 16 สไลด์ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ภายหลังได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงเปิดหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของโรงพยาบาล เมื่อเร็วๆ นี้

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นสาขาหนึ่งของการใช้ภาพ (Imaging) ในการวินิจฉัยโรค โดยใช้สารกัมมันตภาพรังสีจำนวนเล็กน้อยช่วยในการวิเคราะห์และวิจัยความรุนแรง และยังใช้สารกัมมันตภาพรังสี รักษาโรคชนิดต่างๆ ในการวินิจฉัย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โรคความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท หรืออื่นๆ ภายในร่างกาย

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ วินิจฉัยโรคโดยอาศัยการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าในเส้นเลือด โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์และประเมินการรักษาได้ การตรวจด้วยภาพ (Imaging scans) โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกัมมันตภาพรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์นี้ เรียกว่า เภสัชภัณฑ์รังสี หรือ เภสัชรังสี (Radiopharmaceuticals/radiotracers)

นอกจากการฉีดสารเข้าในร่างกาย การวินิจฉัยโดยใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์อาจใช้วิธีกลืนหรือวิธีสูดหายใจ เพื่อให้สารสะสมในอวัยวะหรือในบริเวณที่ต้องการจะทำการตรวจ การตรวจดูสารรังสีจะถูกควบคุมโดยกล้องหรือเครื่องมือพิเศษที่สามารถทำให้เราเห็นภาพหรือข้อมูลของโมเลกุลอย่างละเอียด

นักเวชศาสตร์นิวเคลียร์จะใช้เทคนิคที่ปลอดภัย ไม่เจ็บปวด และคุ้มค่าใช้จ่ายในการประมวลภาพส่วนต่างๆ ของร่างกายและรักษาโรค เวชศาสตร์นิวเคลียร์มีลักษณะเฉพาะ เพราะสามารถให้ข้อมูลแก่แพทย์ได้ทั้งในเรื่องของโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะ โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัดหรือการวินิจฉัยแบบอื่นที่เสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

เนื่องจากเวชศาสตร์นิวเคลียร์สามารถทำให้เห็นถึงโมเลกุลในร่างกายได้อย่างแม่นยำ การประมวลภาพด้วยกระบวนการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จึงทำให้แพทย์สามารถตรวจพบโรคหรือสิ่งผิดปกติในร่างกายที่เกิดขึ้นในระยะแรกเริ่มได้ดีกว่าการทดสอบด้วยวิธีการอื่นๆ

ในการวินิจฉัยและรักษาโรค การประมวลภาพจากเภสัชรังสีที่อยู่ในร่างกาย จะถูกตรวจจับด้วยกล้องชนิดพิเศษที่ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงภาพที่ชัดเจนของอวัยวะในร่างกายที่ถูกถ่ายภาพ ในการรักษาเภสัชรังสีจะถูกส่งไปยังอวัยวะส่วนที่ต้องการ รักษาโดยตรง

ปริมาณรังสีที่ใช้ระหว่างการประมวลภาพวินิจฉัยและการรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์จะถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามหลักของ "ALARA" (As Low As Reasonably Achievable) โดยปริมาณรังสีจะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของการวิเคราะห์ อาทิ อาจจะสูงกว่าปริมาณรังสีปรกติในกรณีตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้อง/เชิงกราน (Abdomen/Pelvis CT scan) และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำอาจต้องมีขั้นตอนในการเตรียมผู้ป่วยแบบพิเศษที่รวมถึงการเตรียมควบคุมเรื่องอาหารหรือยาบางชนิด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องปรึกษากับแผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ก่อนการรักษา

“หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์” ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เกิดด้วยวิทยาการทางนิวเคลียร์และเป็นหน่วยรักษามะเร็งร่วมกับหน่วยรังสีมะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด โดยห้องผู้ป่วยที่จะทำการรักษาโรคด้วยสารเภสัชรังสีได้ออกแบบและมีอุปกรณ์พิเศษเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี รวมถึงมีบ่อที่ใช้ในการกักเก็บน้ำเสียและของเสียที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากผู้ป่วยที่สมบูรณ์แบบ และมีระบบโทรทัศน์กล้องวงจรปิดมาช่วยในการดูแลผู้ป่วย โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้เป็นสถานปฏิบัติการด้านรังสี เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยด้วยสารกัมมันตภาพรังสี

แหล่งข้อมูล:

  1. ทรงเปิด “หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์”เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง http://www.dailynews.co.th/society/158278 [2012, October 11].
  2. What is Nuclear Medicine. https://mail.google.com/mail/u/0/?shva=1#drafts/13a20407ce6baf9d [2012, October 11].
  3. Nuclear medicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_medicine [2012, October 11].
  4. What is General Nuclear Medicine? http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=gennuclear [2012, October 11].