เวคิวโรเนียม (Vecuronium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเวคิวโรเนียม (Vecuronium หรือ Vecuronium bromide) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่อยู่ในหมวดหมู่นอน-ดีโพลาไรซิ่ง บล็อกกิ้ง เอเจนท์ (Non-depolarizing blocking agents, ยาหย่อนกล้ามเนื้อ) ทางคลินิกได้นำยานี้มาใช้ในผู้ป่วยที่ต้องสอดท่อช่วยหายใจรวมถึงผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเวคิวโรเนียมเป็นหนึ่งรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองใช้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเวคิวโรเนียมจะเป็นยาฉีด ยาเวคิวโรเนียมสามารถอยู่ในกระแสเลือดของมนุษย์ได้นานประมาณ 51 - 80 นาที และตัวยาบางส่วนจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ การกำจัดยาออกจากร่างกายจะถูกผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

มีข้อจำกัดการใช้ยาเวคิวโรเนียมที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยานี้เช่น

  • ต้องไม่มีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียจากการได้รับพิษหรือมีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomem branous colitis) ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ยานี้
  • เป็นผู้ที่กำลังใช้ยา Quinine หรือ Quinidine ด้วยยาดังกล่าวห้ามใช้ร่วมกับเวคิวโรเนียม
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาทุกชนิดซึ่งรวมยาเวคิวโรเนียมอยู่ด้วย
  • ผู้ป่วยโรคหืด ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะขัด ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการไหลเวียนของเลือด หัวใจ เต้นผิดปกติ ผู้ป่วยโรคตับโรคไต ผู้ที่มีปัญหาในระบบต่อมไร้ท่อ ผู้ป่วยด้วยโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้มีปัญหาทางจิตประสาทหรือเคยคิดฆ่าตัวตาย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ ผู้ที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ป่วยด้วยอาการชัก หรือผู้ที่มีโรคระบบทางเดินอาหารอักเสบแบบต่างๆ (เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ) กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้หากจำเป็นต้องใช้ยาเวคิวโรเนียมจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาเป็นอย่างมาก
  • มียาบางประเภทเมื่อใช้ร่วมกับยาเวคิวโรเนียมสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเวคิวโรเนียมเพิ่มขึ้นได้เช่น ยากลุ่ม Aminoglycosides, Clindamycin, Cyclosporine, ยาสลบชนิดสูดพ่นผ่านจมูกอย่างเช่น Enflurane, ยา Lincomycin, ยากลุ่มแมกนีเซียมแบบต่างๆ (เช่น Magnesium hydroxide), Trimethaphan (ยาลดความดันโลหิต), Verapamil และอาจรวมถึงยาอื่นที่ยังมิได้กล่าวถึง จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆชนิดใดอยู่ก่อนหน้านี้
  • กรณีเป็นผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 สัปดาห์ถือเป็นข้อที่ต้องระวังเป็นอย่างมากด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกระบุความปลอดภัยในการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างชัดเจน
  • หลังได้รับยานี้อาจก่อให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตที่ออกจากหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยจะต้องอยู่ที่สถานพยาบาลสักระยะหนึ่งเพื่อให้แพทย์ตรวจสอบจนมั่นใจว่าร่างกายกลับมาเป็นปกติหลังใช้ยานี้ แพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้

ด้านอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาเวคิวโรเนียมที่ดูเหมือนจะรุนแรงที่สุดได้แก่ แน่นหน้าอก/เกิดภาวะหายใจขัดข้อง/หายใจลำบาก มีอาการบวมของริมฝีปาก-ใบหน้า-ลิ้น มีภาวะวิงเวียน และมีไข้ อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าลง ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้ผู้ป่วยจะได้รับการควบคุมสัญญาณชีพต่างๆและอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด

ยาเวคิวโรเนียมยังมีข้อบ่งใช้บางประการที่ไม่ได้จัดอยู่ในประโยชน์ทางคลินิกกล่าวคือ บางประเทศในแถบซีกโลกตะวันตกได้ใช้ยานี้ในกระบวนการประหารชีวิตโดยใช้กลไกทำให้ระบบการหายใจเป็นอัมพาต

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยาเวคิวโรเนียมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น

เวคิวโรเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เวคิวโรเนียม

ยาเวคิวโรเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น ใช้เป็นยาร่วมในกระบวนการวางยาสลบเพื่อหัตถการทางการแพทย์เช่น การผ่าตัด การสอดใส่ท่อช่วยหายใจ

เวคิวโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเวคิวโรเนียมมีกลไกออกฤทธิ์โดยตัวยาจะปิดกั้นกระแสประสาทจากเส้นใยประสาทที่หล่อเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อลายเกิดการคลายตัวทำให้ง่ายต่อการทำหัตถการทางการแพทย์ จนเป็นที่มาของสรรพคุณ

เวคิวโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเวคิวโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น ยาฉีดขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/ขวด

เวคิวโรเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเวคิวโรเนียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำเริ่มต้นที่ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาไปแล้วเป็นเวลา 25 - 40 นาทีให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.01 - 0.015 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยให้ยาต่อเนื่องในทุก 12 - 15 นาที
  • เด็ก: การใช้ยากับเด็กให้พิจารณาเป็นกรณีของช่วงอายุเด็ก สามารถใช้แนวทางการให้ยาจากเอกสารกำกับยานี้ร่วมกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเวคิวโรเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเวคิวโรเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เวคิวโรเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเวคิวโรเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อไม่มีแรงเหมือนเป็นอัมพาต กล้ามเนื้อลีบลง ก่อให้เกิดภาวะหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก

*ผู้ที่มีอาการแพ้ยาเวคิวโรเนียมจะมีอาการหลอดลมตีบ/หดเกร็ง/หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว มีลมพิษ และผื่นบวมขึ้นเฉียบพลัน

มีข้อควรระวังการใช้เวคิวโรเนียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเวคิวโรเนียมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวมหรือมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและแจ้งแพทย์ทันที
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นชนิดใดอยู่บ้างด้วยยาเวคิวโรเนียมสามารถเกิดปฏิกิริยา ระหว่างยากับยาอื่นได้หลายรายการ
  • หลังการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ระยะหนึ่งเพื่อรอให้ร่างกายปรับสภาพกลับมาเป็นปกติ แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเวคิวโรเนียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เวคิวโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเวคิวโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Amikacin, Neomycin, Gentamycin, Tobramycin อาจทำให้ระดับยาเวคิวโรเนียมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้เสี่ยงต่อความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับระบบกล้ามเนื้อของผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Amlodipine อาจทำให้ระบบการหายใจติดขัดคล้ายเป็นอัมพาต เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเวคิวโรเนียมร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลงรวมถึงทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเวคิวโรเนียมอย่างไร?

ควรเก็บยาเวคิวโรเนียมตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาที่หมดอายุ

เวคิวโรเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเวคิวโรเนียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
GERVEC (เจอเวค) German Rem
KABIVEC (คาบิเวค) Fresenius Kabi
NEOVEC (นีโอเวค) Neon Labs
Norcuron (นอร์คูรอน) NV Organon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vecuronium_bromide [2016,April16]
  2. http://www.drugs.com/cdi/vecuronium.html [2016,April16]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/194#item-9080 [2016,April16]
  4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Vecuronium+bromide [2016,April16]
  5. http://www.corvallisoregon.gov/ems-protocols/Pharmacology%20Section/Vecuronium-Final.pdf [2016,April16]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/vecuronium-index.html?filter=3&generic_only= [2016,April16]
  7. http://www.mims.com/India/drug/search?q=vecuronium%20bromide [2016,April16]