เล่าเรื่องปวดหัว ตอนที่ 3 ปวดหัวจุงเบย

ปลูกไตปลูกชีวิต

“ปวดหัว ปวดหัว แล้วก็ปวดหัว” หมอที่ทำการรักษาผู้ป่วยพูดเสียงดังออกมา เพราะในแต่ละวันมีผู้ป่วยจำนวนมาก และผู้ป่วยปวดหัวก็มีจำนวนที่มาก แต่ที่ยากคือ ไม่รู้ว่ามีสาเหตุการปวดหัวจากอะไร จนทำให้แพทย์ผู้รักษาเกิดอาการปวดหัวตามด้วย ถึงแม้ว่าสาเหตุหลักของการปวดหัวแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกได้ว่าผู้ป่วยรายไหนเป็นกลุ่มไหน เหตุสำคัญเลย คือ อาการของผู้ป่วยแต่ละคนไม่ตรงไปตรงมาเหมือนในหนังสือ เหมือนกับที่ผมเล่าให้ฟังในตอนก่อนหน้านี้ และที่ยากคือรายละเอียดของผู้ป่วยไม่ค่อยได้ เพราะอาการปวดหัวเป็นเรื่องที่พบบ่อย เป็นเองหายเอง ซื้อยาทานเอง กว่าจะมาหาหมอก็จำรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นตั้งแต่ต้นไม่ได้ แพทย์เองก็มีผู้ป่วยมาก จะมีเวลาสอบถามข้อมูลจากผู้ป่วยแต่ละคนก็ไม่มาก 3-5 นาทีก็มากแล้ว ในผู้ป่วยแต่ละราย ตรงนี้เองก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัยทำได้ไม่ง่าย แล้วเราจะทำอย่างไรดีเมื่อมีอาการปวดหัว ไปหาหมอเมื่อไหร่ดี ลองมาดูกันครับ

กรณีที่ต้องพบแพทย์ มีดังนี้

  1. อาการปวดศีรษะนั้นเป็นครั้งแรก และมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก คือถ้าเป็นคะแนนก็มากกว่า 5 เต็ม 10 หรือต้องหยุดทำกิจกรรมเมื่อมีอาการปวดศีรษะ
  2. อาการปวดศีรษะนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น มากขึ้น ถึงแม้จะพักผ่อน ทานยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุดลง
  3. อาการปวดศีรษะร่วมกับมีความผิดปกติส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หูดับ
  4. อาการปวดศีรษะร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น เป็นต้น
  5. อาการปวดศีรษะที่เป็นแรงที่สุดในชีวิต
  6. อาการปวดศีรษะที่มีประวัติ ชัก หมดสติ
  7. อาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดตึงต้นคอ ก้มศีรษะลงไม่ได้
  8. อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ตับวาย ไตวาย หูน้ำหนวก ติดเชื้อเอชไอวี เปลี่ยนอวัยวะ เป็นต้น
  9. อาการปวดศีรษะในผู้ทานยาละลายลิ่มเลือด (anticoagulant) ยากดภูมิต้านทาน/คุ้มกัน

*****อาการปวดศีรษะใดๆ ก็ตามที่เราไม่เคยเป็น และรู้สึกว่ามันรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผมว่าควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลครับ อย่าชะล่าใจ อย่าประมาท กันไว้ดีกว่าแก้ครับ