เล่าเรื่องปวดหัว ตอนที่ 20 ปวดหัวทุกครั้งหลังทานข้าว

อัมพาต  360 องศา

อาการปวดเป็นอาการที่ทำให้ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน อาการปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกายสามารถเกิดร่วมกันได้ โดยอาจมีสาเหตุจากสาเหตุเดียวกัน หรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากสาเหตุหลัก หรือเกิดจากผลของการรักษา ผมมีผู้ป่วยสูงอายุท่านหนึ่งเริ่มต้นมีปัญหาเจ็บหน้าอก พอเข้ารับการรักษาอาการเจ็บหน้าอกดีขึ้น แต่ปวดหัวแทน ลองติดตามดูครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยรายนี้

ผู้ป่วยชายสูงอายุท่านหนึ่งมากับลูกสาวซึ่งเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลชุมชน บอกกับผมว่าพ่อมีอาการปวดหัวมากมาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อนเลย อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นมากหลังทานอาหารได้ประมาณ 1 ชั่วโมง พอไม่นานอาการก็ดีขึ้น พอทานอาหารอีก อาการก็เป็นแบบนี้อีก ผมฟังแล้วน่าสนใจมากครับ อาการปวดหัวหลังจากทานอาหาร ผมพยายามนึกถึงโรคที่เป็นไปได้เกี่ยวกับการทานอาหาร เช่น ชนิดของอาหาร การเคี้ยว ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติต่างๆ ซึ่งก็ถามอาการแล้วก็ไม่ได้ว่ามีอะไรผิดปกติ และถ้าเป็นก็น่าจะเริ่มมีอาการมานานแล้ว แต่นี้เพิ่งเป็นได้ 2 สัปดาห์ น่าจะต้องถามว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 2 สัปดาห์นี้

ได้ความครับ คือ ผู้ป่วยเพิ่งออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากไปนอนรักษาเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด หลังออกจากโรงพยาบาลก็ได้ยามาทานหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือยาขยายหลอดเลือดหัวใจและยาอมใต้ลิ้น ผู้ป่วยสังเกตว่าเมื่อทานยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทานก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนทานก็ไม่มีอาการอะไรผิดปกติ แต่พอหลังทานไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เริ่มมีอาการปวดหัว แต่พอผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมงอาการต่างๆ ก็ดีขึ้น แต่พอทานยาชนิดเดิมเข้าไปอีก ก็มีอาการแบบเดิมอีกทุกครั้ง แต่ก็ไม่กล้าหยุดยาดังกล่าว เพราะหมอบอกว่าเป็นยาขยายหลอดเลือดหัวใจ กลัวว่าถ้าหยุดยาไปแล้วอาการทางหัวใจก็จะกำเริบขึ้นมาอีก เคยลองหยุดยาไป 2 ครั้ง ก็ไม่เป็นเลยทั้ง 2 ครั้งนั้น

พอผมได้ข้อมูลแบบนี้ก็สบายมากเลยครับอาการปวดหัวนั้นต้องเกิดจากการที่ได้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลังจากทานยาไปแล้วยาดังกล่าวนอกจากจะขยายหลอดเลือดหัวใจแล้ว ยังขยายหลอดเลือดสมองด้วย ทำให้มีอาการปวดหัวเกิดขึ้น เมื่อทานยาแล้วยาออกฤทธิ์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการทานอาหาร เพียงแต่ยาทานก่อนอาหาร และเมื่อทานยาไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มออกฤทธิ์ คนไข้จึงเกิดอาการหลังจากทานอาหารไปพอดี

ผมจึงต้องแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปปรึกษาหมอโรคหัวใจ เพื่อให้การปรับเปลี่ยนยาที่ไม่เกิดผลข้างเคียงดังกล่าว จากกรณีนี้ก็เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่ผมได้เล่าผ่านมา การได้ข้อมูลด้านการเจ็บป่วยที่ดี อาการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา และการตั้งข้อสังเกตที่ละเอียดจากประวัติ ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้โดยไม่ต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมใดๆ