เล่าเรื่องปวดหัว ตอนที่ 2 ปวดหัวมีกี่แบบ

ปลูกไตปลูกชีวิต

ความเดิมตอนที่แล้วเราได้คุยกันไว้ว่า อาการปวดศีรษะมีสาเหตุหลักเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติในสมองหรือโพรงกะโหลกศีรษะได้ กลุ่มนี้อาจเรียกว่ากลุ่มที่ไม่มีอันตราย และกลุ่มที่ตรวจพบความผิดปกติในสองหรือโพรงกะโหลกศีรษะ กลุ่มนี้จะมีอันตราย ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องอาจเสียชีวิตหรือพิการได้ เรามารู้จักอาการและสาเหตุของการปวดศีรษะในแต่ละกลุ่มให้ละเอียดขึ้นดีกว่า

ก. กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติในสมองหรือโพรงกะโหลกศีรษะหรือกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุอันตราย ร้ายแรงใดๆ เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ประมาณว่าร้อยละ 95-97 ของผู้ป่วยทั้งหมด ภาษาทางการเรียกว่า functional headache ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีสาเหตุหลักๆ ได้แก่

  1. ปวดศีรษะไมเกรน (migraine headache)
  2. ปวดศีรษะจากความเครียด (tension typed headache)
  3. ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (cluster headache) และ
  4. อื่นๆ เช่น ปวดศีรษะข้างเดียวตลอดเวลา (hemicranial continua) ปวดศีรษะแบบทิ่มแทง (stapping pain) เป็นต้น

ลักษณะการปวดหัวที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ

  1. อาการปวดศีรษะนั้นจะเป็นๆ หายๆ เป็นเรื้อรังส่วนใหญ่ เป็นเอง หายเอง
  2. อาการปวดศีรษะที่พบไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาทที่ถาวร เป็นเพียงชั่วคราวและหายเองได้ เช่น ปวดศีรษะคลัสเตอร์ ปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น
  3. ไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้สูง อาเจียน ตามองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท
  4. อาการเป็นๆ หายๆ มานานหลายๆ ปี โดยที่ไม่มีผลแทรกซ้อนอื่นๆ
  5. ตรวจร่างกายทางระบบประสาทและระบบทั่วไปไม่พบความผิดปกติใดๆ
  6. ถ้าไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอ็มอาร์ไอสมองก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ เช่นกัน

ข. กลุ่มสอง คือ กลุ่มที่ตรวจพบความผิดปกติในสองหรือโพรงกะโหลกศีรษะ กลุ่มนี้จะมีอันตราย ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องอาจเสียชีวิตหรือพิการได้ เรียกว่ากลุ่ม organic headache สาเหตุที่พบ คือ

  1. เนื้องอกในสมอง ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้องอกในเนื้อสมองเองหรือเนื้องอกจากอวัยวะส่วนอื่นแล้วกระจายมาที่สมอง
  2. ภาวะติดเชื้อในสมองและเยื่อหุ้มสมอง โพรงหลอดเลือดดำ โพรงไซนัส ช่องหูและอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณศีรษะทั้งหมด
  3. อุบัติเหตุต่อสมอง เช่น เลือดออกในสมอง กะโหลกศีรษะแตก ร้าว
  4. โรคของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5,9 เส้นประสาทของกระดูกสันหลังระดับคอที่ 1,2 เป็นต้น
  5. โรคของตา หู โพรงไซนัสที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดทั้งหมด
  6. การติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)
  7. ความผิดปกติของระบบอื่นๆ ในร่างกายและส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง เป็นต้น

ลักษณะการปวดศีรษะที่สำคัญ ที่ควรต้องรีบพบแพทย์รีบไปโรงพยาบาล คือ

  1. อาการปวดศีรษะเป็นอาการใหม่ ไม่เคยแบบนี้มาก่อน
  2. การดำเนินโรคเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. อาการปวดศีรษะไม่ตอบสนองต่อการทานยาแก้ปวด
  4. มีอาการผิดปกติในส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย
  5. มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท มองเห็นภาพซ้อน ภาพไม่ชัดเจน
  6. มีอาการหลังจากประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  7. มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในสมองหรือเลือดออกในสมอง
  8. ทานยาละลายลิ่มเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน/ต้านทาน เป็นต้น

ตอนนี้ทุกคนได้ทราบแล้วว่าอาการปวดศีรษะมี 2 กลุ่มอาการ และลักษณะแบบไหนที่อันตราย แบบไหนไม่อันตราย ติดตามตอนต่อไปครับว่า แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรดูแลตนเองได้ เมื่อไหร่ที่ต้องรีบไปพบแพทย์ครับ พบกันครับตอนต่อไป