เล่าเรื่องปวดหัว ตอนที่ 18 ปวดหัว ปวดตัวและปวดใจ

อัมพาต  360 องศา

ปวดทั้งหัว ปวดทั้งตัว สุดท้ายก็ปวดใจ เพราะมันปวดไปทั้งตัวเลย ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ทำให้ผู้ป่วยมีแต่ความทุกข์ทรมานมากขึ้น เพราะนอกจากไม่หายปวดหัว ก็ยังมาปวดตัว และสุดท้ายก็ปวดใจ เพราะมันไม่หายและปวดหัวใจ ที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด ต้องติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเรื่องนี้ครับ ห้ามพลาด

ผมได้ตรวจผู้ป่วยรายนี้เมื่อหลายปีก่อน เป็นผู้ชายสูงอายุ มีอาการปวดหัวมาประมาณ 1 เดือน ปวดบริเวณขมับด้านขวา ปวดบริเวณเบ้าตาและกรามด้านขวา ได้ไปพบแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่ง วินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดหัวไมเกรน ได้ยาแก้ปวดมาทาน แต่หลังจากทานยาแก้ปวดอาการไม่ดีขึ้นเลย กลับมีอาการปวดรุนแรง ปวดทั้งตัว เริ่มปัสสาวะออกลดลง มีอาการบวมที่หน้าตอนเช้าหลังตื่นนอน จึงได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ตรวจพบว่า มีภาวะความดันโลหิตสูงมาก ตรวจเลือดพบภาวะไตวายเฉียบพลัน และภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลว เมื่อตรวจเพิ่มเติมอีกพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย

ผู้ป่วยมาพบที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จากการถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลชุมชน ผมได้มาประเมินอาการของผู้ป่วยทั้งหมด โดยเริ่มหลังจากผู้ป่วยมีการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้นแล้ว ผมมาสอบถามประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปวดหัว ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นที่ผู้ป่วยมาพบหมอที่คลินิก ผมได้พิจารณาข้อมูลจากที่ผู้ป่วยเล่ามาทั้งหมด น่าจะเข้าได้กับหลอดเลือดบริเวณขมับอักเสบ (temporal arteritis) จึงได้ส่งตรวจดูการอักเสบของเลือด (ESR: erythrocyte sediment rate) ผลพบว่าสูงมากกว่า 100 ซึ่งเข้าได้กับโรคดังกล่าว จึงให้การรักษาด้วยยาเพ็ดนิโซโลน อาการผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นครับ และก็สามารถกลับบ้านได้ใน 2 สัปดาห์

เกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย ผมสรุปให้ฟังครับตามนี้ คือ ผู้ป่วยสูงอายุเมื่อได้รับยาแก้ปวดมาทาน ยาแก้ปวดที่ได้มาคือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลัน เนื่องจากผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงที่รักษาไม่ดี มีภาวะไตเสื่อมอยู่ก่อน พอเกิดไตวายก็ทำให้ความดันโลหิตขึ้นสูงมาก จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมาด้วย

กรณีนี้เกิดขึ้นเพราะการวินิจฉัยเริ่มต้นที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ได้รับยาที่ไม่เหมาะสม การไม่ได้ข้อมูลโรคประจำตัว ทำให้ได้ยาที่ไม่ควรให้ จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนตามา จนเกือบจะสายไป ดังนั้นการรักษาที่ดีนั้นต้องเริ่มจากข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยที่ดี มีข้อมูลครบถ้วน ก็จะป้องกันการเกิดภาวะรุนแรงที่เกือบทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้แบบรายนี้