เล่าเรื่องปวดหัว ตอนที่ 1 ปวดหัว ปวดหัว ปวดหัว

ปลูกไตปลูกชีวิต

อาการเจ็บป่วยอะไรที่พบบ่อยที่สุด ผมว่าอาการปวดศีรษะต้องติดอันดับอาการผิดปกติแน่ๆ จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครเกิดมาที่ไม่เคยปวดศีรษะ” เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงจะปวดศีรษะ ส่วนผู้ชายพบน้อยกว่าผู้หญิงนิดหน่อย อาจเป็นเพราะผู้ชายเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะก็ได้

สาเหตุของการปวดศีรษะนั้นมีสารพัดสาเหตุ ยิ่งทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยปวดหัวมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นเป็นจากอะไรดี จนมีการพูดเล่นๆ ว่า “รักษาผู้ป่วยปวดหัวมากๆ ระวังหมอจะเป็นโรคปวดหัวและเวียนหัวแทนผู้ป่วย” ซึ่งคำพูดเล่นๆ นี้ก็เกือบจะทำให้ผมปวดเศียรเวียนเกล้าจริงๆ ครับ

เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ ผมขอแบ่งสาเหตุของการปวดหัวเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ อาการปวดศีรษะ/ปวดหัว ที่ไม่รอยโรคในสมอง หมายความว่าไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติในเนื้อสมอง โพรงกะโหลกศีรษะ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังด้วยการตรวจทั่วไป เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือ อาการปวดหัวที่ตรวจพบสาเหตุหรือความผิดปกติในเนื้อสมอง โพรงกะโหลกศีรษะ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังด้วยการตรวจทั่วไป เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด เป็นต้น

ในผู้ป่วย 100 คน พบว่าผู้ป่วยประมาณ 95-97 คนอยู่ในกลุ่มแรก อีก 3-5 คนอยู่ในกลุ่มที่สอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาการปวดหัวนั้น ส่วนใหญ่แล้วแทบไม่มีอันตรายใดๆ มีเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่มีอันตราย ตรงนี้เองมีข้อน่าสังเกต 2 ด้าน

ด้านที่ 1 คือ การปวดหัวมักหายได้เอง ไม่รักษาก็หายได้ รักษาผิดก็ยังหายได้ (ถ้าไม่เกิดผลแทรกซ้อนจากการรักษาก่อน) ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวส่วนใหญ่จึงมักดูแลตนเองได้ ด้วยการทานยาแก้ปวด พักผ่อน ออกกำลังกาย คลายเครียด บีบนวด กดจุด อะไรก็หายครับ เพราะมันจะหายได้เองอยู่แล้ว

ด้านที่ 2 คือ ผู้ป่วยและหมอเองก็จะมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายในการดูแลตนเองของผู้ป่วย หรือการรักษาของหมอเอง เพราะเมื่อสาเหตุที่อันตรายมีน้อยมากๆ ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยมาหา ก็จะมีแนวโน้มในการวินิจฉัยโรคว่าเป็นการปวดหัวธรรมดา โดยอาจประเมินไม่ครบถ้วน ผู้ป่วยเองก็จะซื้อยามาทานเอง ทานเองและทานเองเป็นเวลานานจนชิน จนกระทั่งอาการแย่สุดๆ จึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งก็ช้าไปมาก

ดังนั้นเราควรต้องมาหาความรู้ให้เหมาะสม เพื่อมาดูแลตนเองให้ดี เรื่องราวที่ผมจะนำเสนอให้ผู้อ่านทุกท่านต่อจากนี้ไป ผมอยากให้อ่านเพื่อนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ผมเล่านั้น ไปใช้ในการดูแลตนเองเบื้องต้นเท่านั้น จึงใช้คำว่า “ความรู้ที่เหมาะสม” เพราะการดูแลเบื้องต้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมจะบอกว่าเมื่อไหร่ที่เราควรดูแลตนเองที่บ้านได้ เมื่อมีอาการแบบใดที่ต้องพบแพทย์ และแบบใดที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ผมว่าถ้าในชีวิตเรา รู้ว่าเมื่อใดควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไรก็พอแล้วครับ ลองติดตามตอนต่อๆไปนะครับ มีทั้งหมด 30ตอนครับ