ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ภาวะเลือดออกที่ผิวสมอง (Epidural hema toma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสมอง ก่อให้เกิดเลือดออกในสมองได้หลายตำแหน่ง และมีอาการแตกต่างกันออกไป ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก หรือภาวะเลือดออกที่ผิวสมอง (Epidural hematoma หรือ Extradural hematoma หรือ Epidural hemorrhage หรือ Extra dural hemorrhage) เป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบบ่อย มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน จะรักษาหายหรือ ไม่ ติดตามจากบทความนี้ครับ

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกคืออะไร?

เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ ภาวะที่มีเลือดออกระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือชั้นที่เรียกว่า ดูรา (Dura) โดยเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมอง หรือหลอดเลือดระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา ส่งผลให้เนื้อสมองมีการถูกกดเบียด จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด หรือหมดสติ

ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้ประมาณ 2% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ ภาวะนี้พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้น้อยในอายุที่ต่ำกว่า 2 ปีและในอายุที่มากกว่า 60 ปี และภาวะนี้พบในผู้ชายได้บ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 4 เท่า

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเกิดจากสาเหตุใด?

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก มีสาเหตุหลักจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทั้งอุบัติเหตุทางการจราจร ตกจากที่สูง การกระแทกที่ศีรษะ หรือจากการเล่นกีฬา

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเดินเซและล้มง่าย
  • ผู้มีอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • ผู้ดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด
  • ผู้ที่ไม่ใส่หมวกนิรภัย เวลาขับขี่ยานพาหนะหรือเล่นกีฬาที่มีการปะทะ

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ได้แก่

  • ภาวะสับสน
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ซึมลง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • อาเจียน
  • ชัก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
  • รอยฟกช้ำบริเวณเบ้าตา หลังหู (จากล้มแล้วมีเลือดออก)
  • น้ำใสๆไหลออกจากหู และ/หรือจากจมูก (CSF rhinorrhea, น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง, ที่เกิดจากมีรอยฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมอง)
  • หมดสติ โคม่า
  • เสียชีวิต (ตาย)

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เมื่อมีอุบัติเหตุที่ศีรษะแล้วมีอาการหมดสติ ลืมเหตุการณ์ ปวดศีรษะรุนแรง หรือมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ โดยเฉพาะผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด

*****หมายเหตุ โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

วินิจฉัยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้โดย ใช้ข้อมูลจากประวัติอา การ ประวัติโรคประจำตัวและการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และการตรวจสืบค้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

รักษาภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกอย่างไร?

การรักษาภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยประเมินจาก อาการผิดปกติของผู้ป่วย, ค่าคะแนนจาก “มาตรกลาสโกวโคม่า (Glasgow Coma Scale GCS)” และจากลักษณะความผิดปกติที่พบจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทั้งนี้ โดยทั่ว ไป การรักษาจะเป็นการผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยมีความผิดปกติทางระบบประสาท, มีการกดเบียดเนื้อสมองจากก้อนเลือดที่ออก, และ/หรือ เมื่อมีเลือดออกหนามากกว่า 10 มม.(มิลลิเมตร) โดยเป็นการการผ่าตัดที่นำเลือดออกมา

นอกจากนั้น การรักษาอื่นๆ คือ การให้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ ยาลดสมองบวม อาจให้ยากันชัก เพื่อป้องกันการชักด้วย และการทำกายภาพบำบัดกรณีมีความพิการเกิดขึ้น

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีผลแทรกซ้อนอย่างไร?

ผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบได้จากภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ

  • ชัก
  • ภาวะเลือดออกซ้ำ
  • ภาวะติดเชื้อใน ระบบทางเดินหายใจ และ/หรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • แผลกดทับ จากการต้องนอนรักษาตัวนาน
  • ภาวะเลือดออกซ้ำเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก
  • ความพิการหลงเหลือ เช่น อัมพาต พูดไม่ชัด

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ส่วนใหญ่ได้ผลดีในการรักษา ยกเว้นผู้ป่วยจะมาพบแพทย์/โรงพยาบาลล่าช้ามาก หรือให้การวินิจฉัยล่าช้า เนื่องจากอาการไม่ชัดเจน และ/หรือผู้ป่วยมีภาวะก้านสมองถูกกดทับเป็นเวลานานก่อนที่มารับการรักษา โดยผู้ป่วยเมื่อได้รับการรักษาทันเวลา มักจะหายดีเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการรุนแรง และ/หรือ มีค่าคะแนน “มาตรกลาสโกวโคม่า (Glasgow Coma Scale GCS) ต่ำตั้งแต่แรก ก็อาจมีโอกาสเสียชีวิตได้เช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังออกจากโรงพยาบาลของผู้ป่วยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ค่อยๆฝึกการเคลื่อนไหว การออกกำลัง ความจำ ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ บำบัด แนะนำ เพื่อให้สมรรถภาพร่างกายกลับมาเป็นปกติ
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
  • ระวังการล้ม เพราะเป็นสาเหตุให้เลือดออกซ้ำได้
  • หลีกเลี่ยงการทานยาที่ทำให้เลือดออกง่าย หรือหยุดยาก
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม หรือ อาการต่างๆเลวลง เช่น อาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ ชัก กลืนลำบาก ปัสสาวะไม่ได้ พูดลำบาก เดินลำบากมากขึ้น มีไข้ และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกป้องกันได้หรือไม่?

การป้องกันภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเกิดอุ บัติเหตุที่ศีรษะ โดยการใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ยานพาหนะ, ถ้าทานยาละลายลิ่มเลือด ก็ต้องระวัง (ตามแพทย์แนะนำ) เพื่อไม่ให้เกิดระดับยาเกิน ไม่ควรซื้อยาทานเอง ทานอาหารเสริม และ/หรือสมุนไพร เพราะอาจก่อให้เกิดการตีกันของยา (ปฏิกิริยาระหว่างยา) ได้