เลือดจาง....ไปไหนกัน (ตอนที่ 2)

ภาวะเลือดจาง (Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายขาดเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เพราะฮีโมโกลบินเป็นส่วนสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดงและเป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากมีเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบินที่ผิดปกติหรือต่ำ เซลล์ต่างๆ ในร่างกายก็จะได้รับออกซิเจนไม่พอ

ภาวะเลือดจางเป็นภาวะที่เกิดขึ้นปกติในสหรัฐอเมริกา มีชาวอเมริกันประมาณ 3.5 ล้านคนที่มีภาวะเลือดจาง ผู้หญิงและคนที่เป็นโรคเรื้อรังจะมีความเสี่ยงสูงในการมีภาวะเลือดจาง ทั้งนี้ ปัจจัยความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุ มีดังนี้

  • การขาดวิตามิน โดยเฉพาะธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และโฟเลต
  • มีความผิดปกติของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหาร เช่น เป็นโรคโรคโครนส์ (Crohn's disease) หรือที่เรียกว่า ลำไส้เล็กอุดตันบางส่วน โรคลำไส้อักเสบ (Celiac disease) หรือมีการผ่าตัดลำไส้เล็กในส่วนที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารออกไป
  • การมีประจำเดือน ที่ทำให้มีการสูญเสียเลือด
  • การตั้งครรภ์ เพราะทารกใช้ฮีโมโกลบินในการเจริญเติบโต
  • การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ไต หรือตับ ที่เป็นสาเหตุให้เซลล์เม็ดเลือดแดงขาด
  • มีประวัติครอบครัวเป็น
  • ปัจจัยอื่น เช่น มีการติดเชื้อ เป็นโรคเลือด ภูมิต้านทานผิดปกติ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ได้รับสารเคมีที่เป็นพิษ และมีการใช้ยาที่มีผลต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือด

ภาวะเลือดจางมีหลายชนิด มีสาเหตุและการรักษาที่ต่างกันไป ภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นชนิดที่พบมากที่สุด ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารและการกินธาตุเหล็กเสริม

ภาวะเลือดจางมีมากกว่า 400 ชนิด ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) ภาวะเลือดจางจากการสูญเสียเลือด 2) ภาวะเลือดจางจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้น้อยลง และ 3) ภาวะเลือดจางจากการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

  1. ภาวะเลือดจางจากการสูญเสียเลือด - สามารถเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ เป็นระยะเวลานาน โดยที่เราอาจไม่รู้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการ
    • เป็นแผลเปื่อย (Ulcers) ริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoids) กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) และมะเร็ง
    • เกิดจากการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
    • การมีประจำเดือนและการคลอดบุตรของผู้หญิง โดยเฉพาะเวลาที่ประจำเดือนมามากหรือมีการตั้งครรภ์บ่อย

แหล่งข้อมูล

1. Understanding Anemia -- the Basics. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-anemia-basics [2014, June 12].
2. Risk factors. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/anemia/basics/risk-factors/con-20026209 [2014, June 12].