เลสิค (Lasik)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: ความหมายและที่มาของคำว่าเลสิก

เลสิก (Lasik) เป็นคำย่อมาจาก Laser-assisted in situ keratomileusis เป็นการใช้แสงเลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาเพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติ (การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธี ผ่าตัด) และแสงเลเซอร์ที่ใช้เพื่อแก้ไขเป็น Excimer laser (เครื่องผ่าตัดตาด้วยแสงเลเซอร์ ชนิดหนึ่ง) ซึ่งแต่เดิมใช้ในงานแกะสลักทางอุตสาหกรรม แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษของเลเซอร์ ชนิดนี้ที่สามารถตัดเนื้อเยื่อได้บางมาก บางได้ขนาดน้อยกว่า 1 ไมครอน ( 1 Micron = 1 ในล้านของเมตร) ขณะเดียวกันทำให้เกิดผลสะเทือนกระทบไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียงน้อยกว่า 1 ไม ครอน โดยพบว่าสามารถตัดกระจกตาได้บางขนาด 0.25 ไมครอนก่อให้เกิดความร้อนเล็กน้อย และมีผลต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียงห่างออกไปเพียง 0.2 ถึง 0.3 ไมครอน

ลักษณะที่สำคัญอีกข้อของ Excimer laser คือการตัดชิ้นเนื้อได้ขอบที่เรียบมากจึงสามารถ ควบคุมเนื้อเยื่อที่ถูกตัดได้แม่นยำ

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของ Excimer laser แพทย์ชื่อ S,Trokel แพทย์ชาวสหรัฐอเมริกัน (ปี ค.ศ. 1983) เป็นคนแรกที่ทดลองนำมาใช้ตัดกระจกตาในสัตว์ทดลอง พบว่าตัดได้เรียบและแม่นยำ แทบจะไม่เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียงเลย ตามมาด้วย T, Seiler แพทย์ชาวเยอรมัน (ปี ค.ศ. 1985) ทดลองใช้เครื่องมือนี้รักษาในคนที่ตาบอดแล้วแต่กระจกตายังดีอยู่ ได้ผลดีเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1989 M, Mac Donald แพทย์ชาวสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรกที่ใช้เลเซอร์ชนิดนี้แก้ไขสายตาผิดปกติในคนที่ตาไม่มีโรคอื่นๆและผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการแก้ไขสายตาผิดปกติด้วย Excimer laser ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาหรือเอฟดีเอ (FDA, Food and Drug Administration) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา

การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วย Excimer laser ในระยะแรกเป็นการยิงแสงเลเซอร์โดยค่อยๆ ฝานกระจกตาออก ให้กระจกตาบางลงในบริเวณผิวหน้าและตรงกลางของกระจกตา ทำให้กระจกตาแบนลงลดความโค้งลงตามขนาดที่ฝานกระจกตาออกไป ทำให้สายตาที่สั้นลดลงหรือหายไปได้ โดยทั่วไปฝานกระจกตาบางลง 10 ไมครอนจะแก้ไขสายตาสั้นได้ 1 ไดออปเตอร์/Diopter/D (ชาวบ้านเรียกกันว่าสายตาสั้น 100) เรียกวิธีนี้ว่า PRK (Photorefractive keratotomy) จากวิธี การยิงแสงไปที่ผิวกระจกตาโดยตรง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตามากเป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมงต่อ มาจากผิวกระจกตาถูกทำลาย อีกทั้งสายตาหลังทำไม่คงที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์สายตาถึงจะคงที่ และในผู้ที่สายตาสั้นมากมีการใช้แสงเลเซอร์ฝานกระจกตาออกไปมากมีผลทำให้เกิดรอยฝ้าขาว (Haze) ที่กระจกตาได้หลังทำ ซึ่งบางคนอาจหายไปได้เองหรือบางคนรอยฝ้านี้อาจคงอยู่อย่างถาวรจึงทำให้สายตาไม่ดีเท่าที่ควร

ด้วยปัญหาของวิธี PRK ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของวิธีเลสิกซึ่งเริ่มทำโดย I, Pallikaris แพทย์ ชาวกรีก พบว่าหากฝานกระจกตาออกเป็นฝาด้วยมีดเฉพาะ (Microkeratome) แล้วใช้แสงเลเซอร์เฉพาะบริเวณตรงกลางของความหนาของกระจกตา เมื่อยิงเลเซอร์ตามจำนวนที่ต้องการตามขนาดของสายตาสั้น แล้วปิดฝากระจกตาที่เปิดไว้อย่างเดิม กล่าวคือการยิงแสง Excimer laser ลงไปยังผิวกระจกตาโดยตรงเป็นวิธี PRK แต่ถ้าฝานกระจกตาออกบางส่วนโดยเหลือเป็นหิ้งไว้ด้านใดด้านหนึ่ง เปิดฝายิงแสงลงไปบริเวณกลางๆกระจกตาแล้วปิดฝากระจกตาที่ฝานเปิดไว้ให้เหมือน เดิม เป็นวิธี Lasik ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่แตะต้องผิวนอกสุดของกระจกตา ลดอาการเจ็บปวดหลังทำได้ และแก้ไขสายตาสั้นได้มากกว่า PRK โอกาสเกิดภาวะ Haze เป็นไปได้น้อยกว่า จึงเป็นวิธีที่นิยม และใช้กันมากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม วิธีเลสิกเป็นการแก้ไขสายตาผิดปกติที่เป็นการรักษาโดยใช้มีดผ่าตัดร่วม กับแสงเลเซอร์ โดยใช้กับคนสายตาผิดปกติที่ไม่มีโรคตาอื่นๆ มีเพียงสายตาผิดปกติอย่างเดียว ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์/Contact lens (เลนส์สัมผัส) ที่ดูเหมือนจะปลอดภัยกว่าแต่เป็นการแก้ไขชั่วคราว เมื่อถอดแว่นหรือถอดคอนแทคเลนส์ออกสายตาจะมัวเหมือนเดิม วิธีเลสิกจึงเป็นวิธีแก้ไขสายตาผิดปกติอย่างถาวร แต่เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆที่ผลอาจไม่แน่นอนหรือไม่ปลอดภัย 100 % ผู้ที่ตัดสินใจจะทำเลสิกจึงต้องยอมรับในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. แม้ในปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือหลายๆอย่างที่เพิ่มความแม่นยำในการรักษา แต่ไม่ได้หมายความว่า การรักษาจะได้ผลแม่นยำในทุกคน ผลอาจจะคลาดเคลื่อนจากที่ตั้งเป้า หมายไว้ อาจต้องมีการทำซ้ำหรืออาจต้องใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แก้ไขในส่วนที่คลาด เคลื่อน

2. มักจะมี Contrast sensitivity (การแยกความแตกต่างในที่มืดกับที่สว่าง) ลดลง ทำให้มองภาพในที่สลัวหรือเวลากลางคืนมัวลงกว่าเดิม

3. อาจเห็นแสงกระจายหรือเป็นวงรอบดวงไฟ (Glare and halo) หรือตาแพ้แสงโดยเฉพาะเวลากลางคืน

4. การทำเลสิกทำที่กระจกตาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนอื่นของดวงตา ความเสี่ยงของโรคตาอื่นๆในผู้ป่วยสายตาสั้นเช่น น้ำวุ้นตาเสื่อม จอตาฉีกขาด จอตาหลุดลอก ยังคงเหมือน เดิม แต่ทั้งนี้การทำ Lasik ไม่ได้เพิ่มอัตราเสี่ยงของภาวะดังกล่าว

ใครไม่สมควรหรือไม่เหมาะที่จะทำเลสิก?

เลสิค

บุคคลที่ไม่สมควรหรือไม่เหมาะที่จะทำเลสิกคือ

1. บุคคลที่มีตาดีข้างเดียว การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยแว่นตาจึงน่าจะปลอดภัยกว่าดังได้กล่าว แล้ว

2. ผู้มีประวัติการเจ็บป่วยอื่นๆทางตาร่วมด้วยโดยเฉพาะบริเวณกระจกตา เป็นแผลที่กระจกตา ผิวตาดำไม่เรียบ เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง และ/หรือ ตาแห้ง

3. โรคกระจกตาย้วย หรือกระจกตารูปกรวย (Keratoconus, โรคชนิดหนึ่งที่มีการเสื่อมของกระจกตาส่งผลให้กระจกตาบางและเป็นรูปกรวย) เป็นภาวะที่ห้ามทำเลสิกเนื่องจากพบอาการตาย้วยมากขึ้นจนกระจกตาเสียรูป ทำให้สายตามัวลงอย่างมากในเวลาต่อมาได้

4. หญิงมีครรภ์ ผู้มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคหลอดเลือด โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) เช่น โรคข้อรูมาตอยด์, โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี(SLE, Systemic lupus erythematosus) ฯลฯ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะมีการสมานแผลของผิวกระจกตาที่ผิดปกติ อาจทำให้กระจกตาเปื่อยและรุนแรงทำให้สูญเสียสายตาได้ แม้แต่โรคเบาหวานก็อาจทำให้แผลหายช้า เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

5. ผู้ป่วยที่มีโรคทางกายเรื้อรัง ยาบางตัวอาจทำให้กระจกตาผิดปกติเช่น ยาสารเคมีรักษาโรคมะเร็ง หรือยา Amiodarone (ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติ) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดเป็นฝ้าขาวหลังทำเลสิกได้ง่าย

6. ผู้ที่มีกระจกตาโค้งมากหรือโค้งน้อยเกินไป การทำเลสิกอาจมีผลคลาดเคลื่อนได้สูง

7. ผู้ที่มีกระจกตาบางเกินไปด้วยเหตุที่การแก้ไขสายตาสั้นจะต้องฝานกระจกตาด้วยเลเซอร์ประ มาณ 10 ไมครอนในการแก้ไขสายตาสั้น 1 D หากกระจกตาบางอยู่แล้ว เมื่อฝานออกจะยิ่งบางลงๆ โดยทั่วไปถ้ากระจกบางลงมากจะทำให้กระจกตาไม่อาจคงรูปเหมือนปกติ เกิดภาวะกระจกตาย้วยซึ่งทำให้สายตามัวลงอย่างมากได้

8. ข้อที่ห้ามทำเป็นอย่างยิ่งก็คือผู้ที่คาดหวังกับสายตาหลังทำมากเกินไป เนื่องจากหลังทำอาจ มีการสูญเสียบางอย่างเช่น สายตาเวลากลางคืนมองเห็นลดลง ตาสู้แสงไม่ได้/ตาแพ้แสง แสบตา ตาแห้งง่ายขึ้น

มีการตรวจตาอย่างไรบ้างก่อนทำเลสิก?

โดยทั่วไปการตรวจดวงตาก่อนทำเลสิกได้แก่

1. วัดระดับ สายตาสั้น, สายตาเอียง, สายตายาว, ที่แน่นอน โดยเฉพาะผู้ใช้คอนแทคเลนส์ต้องงดการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นชนิดนิ่มอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (เลนส์สัมผัสชนิดแข็งและเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม) เนื่องจากการใช้คอนแทคเลนส์กดตาอยู่นานๆอาจเปลี่ยน ความโค้งของกระจกตาชั่วคราวทำให้วัดระดับสายตาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

2. ตรวจกระจกตาดูว่ามีโรคที่เป็นข้อห้ามในการทำเลสิกหรือไม่ วัดความโค้งของกระจกตาในบริเวณต่างๆอย่างละเอียดเพื่อดูว่ามีภาวะกระจกตาย้วยหรือไม่ ตลอดจนความหนาของกระจกตา

3. วัดความดันตาตรวจโรคต้อหิน หากมีโรคต้อหินอาจจะไม่เหมาะในการทำเลสิก

4. วัดขนาดรูม่านตาในที่มืด การยิงเลเซอร์ควรจะให้กว้างกว่าขนาดรูม่านตาเพื่อลดภาวะการเห็น แสงจ้าในเวลากลางคืน

5. ตรวจจอตาอย่างละเอียดเนื่องจากผู้ที่มีสายตาสั้นมากมักมีความผิดปกติของจอตาอาทิเช่น จุดรับภาพบนจอตาเสื่อม จอตาฉีกขาด จอตาบาง หากพบความผิดปกติควรแก้ไขก่อนมาทำเลสิก

ควรเตรียมตัวก่อนทำเลสิกอย่างไร?

เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่เจ็บเล็กน้อยซึ่งแก้ไขได้โดยใช้เพียงยาชาหยอดตา บางรายอาจ ให้กินยาแก้ปวดก่อนทำโดยไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ จึงไม่จำเป็นต้องอดอาหารและน้ำดื่ม

  1. ยาประจำตัวเช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ให้รับประทานตามปกติ
  2. ก่อนมาโรงพยาบาลควรอาบน้ำสระผม ล้างหน้าโดยไม่ใช้เครื่องสำอางบนใบหน้าทั้งสิ้น
  3. ห้ามใช้น้ำหอมหรือสารระเหยอะไรในร่างกายเนื่องจากสารเหล่านี้อาจไปจับกระจกที่ทำหน้าที่สะท้อนแสง ทำให้แสงเลเซอร์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่ตั้งตัวเลขไว้ อีกทั้งอาจรบกวนการหมุนเวียนของแก๊สไนโตรเจนที่ใช้ในเครื่องเลเซอร์ทำให้เครื่องเลเซอร์รวนได้

วิธีผ่าตัดเลสิกทำอย่างไร? มีขั้นตอนอย่างไร?

ให้นึกภาพของกระจกตา (ตาดำ) เป็นทรงกระทะคว่ำอยู่ มีความหนาประมาณ 500 ไมครอน และเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 - 12 มม.(มิลลิเมตร) ใช้มีดพิเศษ (Microkeratome) ฝานออกเป็นฝาขนาดความหนาประมาณ 90 - 180 ไมครอน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 - 7 ม.ม.ในบริเวณตรงกลางของกระจกตา โดยให้เหลือขอบไว้คล้ายๆเปิดฝากระป๋อง มีขอบด้านหนึ่งเก็บไว้ เปิดฝานี้ออกใช้แสงเลเซอร์ยิงไปบริเวณตรงกลาง ขนาดจำนวนที่ยิงขึ้นอยู่กับขนาดของสายตา แล้วปิดฝาที่เปิดไว้ เกลี่ยให้ฝานี้ปิดเข้ารูปเดิมโดยไม่ต้องเย็บฝาที่เปิดนี้ ซึ่งมีขอบด้านหนึ่งยึดไว้อยู่แล้วจึงมักจะปิดได้เรียบ เป็นอันเสร็จสำหรับการทำเลสิก

ทั้งนี้จำนวนแสงเลเซอร์ที่ค่อยๆฝานกระจกตาออกทีละนิดใช้คำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ โดย จะต้องเหลือกระจกตาหนามากกว่า 250 ไมครอน (ไม่นับความหนาที่ฝานออกด้วยมีด) สมมุติว่าผู้นั้นมีความหนาของกระจกตา 500 ไมครอน ฝานออกเป็นฝาไป 100 ไมครอนจะเหลือความหนาอยู่ 400 ไมครอน ที่จะต้องยิงเลเซอร์ฝานออกต้องไม่ถึง 150 ไมครอนเพื่อเหลือกระจกตาไว้มากกว่า 250 ไมครอน ในผู้ที่กระจกตาบางเช่น มีอยู่แค่ 400 ไมครอน ฝานออกเป็นฝาเสีย 100 ไมครอน จะเหลือกระจกตาเพียง 300 ไมครอนที่สามารถใช้แสงเลเซอร์ฝานทิ้งไปได้เพียง 50 ไมครอน เท่านั้น หากผู้นั้นสายตาสั้นมากก็ไม่อาจแก้ไขสายตาสั้นได้หมด หากฝานออกมากเกินไปเหลือเนื้อกระจกตาน้อยกว่า 250 ไมครอนอาจทำให้กระจกตาที่เหลือไม่แข็งแรง เกิดการผิดรูปในภาย หลังอันจะทำให้สายตามัวลงที่ยากแก่การจะแก้ไข

ขั้นตอนการทำเลสิกโดยทั่วไปสำหรับผู้ที่จะรับการทำเลสิกมีขั้นตอนต่างๆดังนี้

1. ผู้ป่วยล้างหน้าให้สะอาด หยอดยาชาตาข้างที่ทำ

2. แพทย์ป้อนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยให้กับเครื่องทำเลสิกเช่น ระดับสายตาที่ผิดปกติตลอด จนสายตาที่ต้องการแก้ไข (บางท่านอาจต้องการให้เหลือสายตาสั้นไว้บ้างเพื่อให้การมองใกล้เห็นได้ดี)

3. แพทย์ตรวจเช็คเครื่องเลเซอร์ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

4. แพทย์ประกอบเครื่องฝานกระจกตา (Microkeratome) และทดสอบการใช้งาน โดย ทั่วไปเครื่องฝานนี้จะมีใบมีดซึ่งมีความคมมากและใช้เพียงครั้งเดียว

5. ผู้ป่วยนอนหงายและรับการล้างตาให้สะอาด ให้ผู้ป่วยจ้องเป้าข้างหน้าซึ่งแพทย์จะจัดให้ตรงกับตาผู้ป่วย แล้วใช้เครื่องถ่างตาผู้ป่วยไว้ตลอดขณะผ่าตัด

6. เนื่องจากกระจกตารูปโค้งยากแก่การฝาน ต้องใช้แรงดูดกดกระจกตาให้แบนราบโดยใช้แรงดูดประมาณ 60 - 65 มม.ปรอท กระจกตาจะแบนราบพร้อมที่จะถูกฝาน ด้วยเหตุที่ต้องใช้แรงกดถึง 60 มม.ปรอทจึงไม่เหมาะในผู้ป่วยโรคต้อหินที่มีความดันตาสูงอยู่แล้ว

7. ใช้เครื่องฝานกระจกตาฝานกระจกตาออกด้วยขนาดที่กำหนด กระจกตาจะถูกฝานออก โดยยังเหลือขั้วหนึ่งไว้

8. คลายแรงดูดที่กดกระจกตาออก กระจกตาจะเด้งโค้งเหมือนเดิม เปิดกระจกตาที่ฝานออกใช้แสงเลเซอร์ยิงลงไป

9. เมื่อยิงเลเซอร์ครบแล้ว ปิดฝากระจกตาไว้ดังเดิม ทำความสะอาดบริเวณรอยต่อ รอเวลาประมาณ 5 นาที ฝากระจกตาสมานติดกับกระจกตาส่วนล่างโดยไม่ต้องเย็บแผล

10. ให้ผู้ป่วยนั่งรอพัก 10 - 20 นาที ตรวจดูว่าฝากระจกตาปิดสนิทดี จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้และมาตรวจแผลวันรุ่งขึ้น โดยห้ามขยี้ตาเพราะอาจทำให้ฝาที่ปิดไว้หลุดได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะหายจากสายตาสั้นมองเห็นชัดทันทีหรือในวันรุ่งขึ้น

มีผลข้างเคียงและโรคแทรกซ้อนจากการทำเลสิกอย่างไร?

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำเลสิกได้แก่

1. การฝานกระจกตาด้วย Microkeratome ทำได้ไม่สมบูรณ์ เช่น อาจตัดไม่ตลอด ตัดหลุดออกจากขั้ว ตัดออกเป็นรูปโดนัท กระจกตาที่ฝานผิวขรุขระไม่เรียบ การฝานไม่อยู่ตรงกลาง อาจเกิดจากการใช้แรงกดกระจกตาให้แบนราบทำได้ไม่ดี ใบมีดไม่คม ซึ่งเมื่อเกิดสิ่งต่างๆเหล่านี้ จำเป็นต้องปิดฝากระจกตาไว้ดังเดิม งดการผ่าตัดไว้ก่อน รอให้แผลสมานดีก่อนกลับมาทำใหม่ในเวลาอีก 3 เดือน

2. อาจมีเลือดออก (ปกติไม่ควรมีเลือดออกเลยเพราะกระจกตาบริเวณตรงกลางใสไม่ มีหลอดเลือดเลย) อาจเกิดจากการฝานกระจกตาไม่ตรงกลางไปชิดขอบตาดำด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป หรือกระจกตาผู้ป่วยผิดปกติมีหลอดเลือดเข้ามาจากการอักเสบครั้งเก่าๆ

3. เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆทั่วไป อาจมีการติดเชื้อจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคมากับเครื่องมือ หรือติดอยู่ตามเปลือกตาและ/หรือขนตาของผู้ป่วย

4. กระจกตาเป็นฝ้าดังกล่าวแล้ว มักพบในผู้ที่สายตาสั้นมากๆ และในวิธี PRK มาก กว่าเลสิก

5. การมองเห็นเวลากลางคืนลดลง เห็นแสงจ้าเวลากลางคืนแต่จะค่อยๆหายไปได้เอง มีน้อยรายที่คงอยู่นาน ซึ่งแพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่านานเท่าไร

6. ที่สำคัญที่สุดก็คือ อาจแก้ไขสายตาไม่ได้หมดตามที่คาดหวัง แก้ได้น้อยไปหรือมากไปเช่น แต่เดิมสั้น 600 ทำแล้วอาจเหลือสั้น 100 หรือแก้มากไปกลายเป็นยาว 100 ซึ่งแก้ไขโดยการยิงเลสิกซ้ำ เพียงแซะเปิดรอยฝานกระจกตาแล้วยิงแสงเลเซอร์เพิ่ม หรือบางรายอาจใช้แว่นสายตาช่วยบ้างบางโอกาส

อนึ่ง การทำเลสิกในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้นๆเรื่อยๆ มีเครื่องรุ่นใหม่ๆที่ทำให้การยิงแสง เลเซอร์ได้ผลดีมากขึ้น สามารถฝานกระจกตาได้อย่างเหมาะสมเพื่อแก้ไขภาวะที่ไม่ต้องการเช่น การเกิดแสงจ้า การแพ้แสง ทำได้แม่นยำขึ้น สามารถขัดเกลากระจกตาให้มีความโค้งที่เหมาะสมดียิ่งขึ้น อีกทั้งแม้แต่การฝานกระจกตาด้วยมีด ปัจจุบันมีเครื่องรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องใช้มีดฝานฝากระจกตาอีก แต่ใช้แสงเลเซอร์ฝานแทนซึ่งแม่นยำมากขึ้น

หลังทำเลสิกควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองการพบจักษุแพทย์หลังการทำเลสิก ได้แก่

  1. ต้องระลึกไว้เสมอว่าหลังทำเลสิกสายตาจะคงที่หรือตาจะกลับมาปกติ อาจใช้เวลานานถึงประมาณ 6 เดือน
  2. ปฏิบัติตามจักษุแพทย์และพยาบาลจักษุแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด
  3. ต้องพยายามไม่ขยี้ตา
  4. ป้องกันดวงตาในขณะนอนหลับตามจักษุแพทย์พยาบาลจักษุแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการกดทับดวงตาหรือแผลผ่าตัด
  5. หยอดตาและกินยาต่างๆตามจักษุแพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน
  6. ไม่ใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าจักษุแพทย์จะอนุญาต
  7. ไม่ใช้เครื่องสำอางใบหน้าและดวงตาจนกว่าจักษุแพทย์จะอนุญาต เพราะอาจเป็นสาเหตุให้สารเคมีเหล่านี้เข้าตาก่อการอักเสบติดเชื้อได้
  8. ระวังน้ำเข้าตาจึงไม่ควรว่ายน้ำหรือทำซาวนาหรือใช้อ่างอาบน้ำ
  9. เลือกเล่นกีฬาชนิดปลอดภัยต่อดวงตา ลดโอกาสเกิดการกระแทกดวงตา
  10. ไม่ขับรถจนกว่าจักษุแพทย์จะอนุญาตโดยเฉพาะการขับรถกลางคืน
  11. เมื่อเกิดความผิดปกติต่างๆกับดวงตาหรือกับสายตา รีบพบจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉินตามคำแนะนำล่วงหน้าของจักษุแพทย์

บรรณานุกรม

1. https://www.fda.gov/medical-devices/lasik/what-should-i-expect-during-and-after-surgery [2021,Sept4]