เลวาไมโซล (Levamisole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เลวาไมโซล (Levamisole) เป็นยาฆ่าพยาธิในกลุ่มอนุพันธุ์ของอิมิดาโซไทอะโซล (Imida zothiazole: ตัวยาฆ่าพยาธิที่มีสาร Imidazole เป็นส่วนประกอบ) ที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ประเทศเบลเยี่ยม แต่ประเทศอเมริกาและแคนาดาได้ถอนตลาดยาตัวนี้ภายในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) และ ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ตามลำดับ ด้วยเหตุที่เลวาไมโซลมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะทำให้ร่างกายมีเซลล์เม็ดโลหิตขาวต่ำกว่าปกติ จนก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงกับผู้ที่ใช้ยานี้ได้ และเมื่อไม่นานมานี้ยาเลวาไมโซลได้ถูกนำมาศึกษาการใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วย มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งที่เกิดในอวัยวะระบบศีรษะและลำคอ เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งคอหอย และมะเร็งกล่องเสียงอีกด้วย ปัจจุบันมีผู้นำยาเลวา ไมโซลไปผสมกับโคเคนและแอบจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้เสพโคเคนเป็นจำนวนมาก

ในด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาเลวาไมโซลถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร หลังรับประทานยาเพียง 1.5 - 2 ชั่วโมงก็สามารถทำให้ระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นได้สูงสุด ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยขับผ่านไปกับน้ำปัสสาวะถึง 70% และบางส่วนถูกขับออกมากับอุจจาระ สำหรับประเทศไทยจะไม่ค่อยได้พบเห็นการใช้ยาตัวนี้มากนัก อาจจะเป็นด้วยผลข้างเคียงและมียาที่เป็นตัวเลือกที่ดี กว่ารองรับ หากมีการใช้ยานี้กับผู้ป่วยรายใดก็ตาม การใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ

ยาเลวาไมโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

เลวาไมโซล

ยาเลวาไมโซลมีสรรพคุณใช้รักษา โรคพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ รวมถึงการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนร่วมกับพยาธิปากขอ และอาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

ยาเลวาไมโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเลวาไมโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยทำให้ตัวของพยาธิเป็นอัมพาต และไม่สามารถเกาะ ติดกับผนังลำไส้ของมนุษย์ได้ จึงถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระในที่สุด ยานี้ยังมีกลไกเพิ่มการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในระดับเซลล์ของมนุษย์ได้อีกด้วย

ยาเลวาไมโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเลวาไมโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 50 และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาเลวาไมโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเลวาไมโซลมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. สำหรับโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว
  • เด็ก: รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว

ข. สำหรับโรคพยาธิไส้เดือนร่วมกับพยาธิปากขอ (Mixed Ascariasis – hookworm infections):

- ผู้ใหญ่และเด็ก: รับประทาน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว ในกรณีมีการติด เชื้อรุนแรงให้รับประทานซ้ำอีกครั้งหลังจากรับประทานยารอบแรกไปแล้ว 7 วัน

ค. สำหรับโรคพยาธิปากขอ (Ancylostomiasis):

- ผู้ใหญ่และเด็ก: รับประทาน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว ในกรณีมีการติดเชื้อรุนแรงให้รับประทานซ้ำอีกครั้งหลังจากรับประทานยารอบแรกไปแล้ว 7 วัน

หมายเหตุ: ควรรับประทานยาเลวาไมโซลพร้อมอาหารเพื่อลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เช่น คลื่นไส้ เป็นต้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเลวาไมโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเลวาไมโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเลวาไมโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเลวาไมโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเลวาไมโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง วิงเวียน ปวดศีรษะ มีไข้คล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดกล้าม เนื้อ ผื่นคัน และอาการข้างเคียงขั้นรุนแรงได้แก่ ระดับเม็ดเลือดขาวลดลงต่ำผิดปกติ (Agranulocy tosis)

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลวาไมโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลวาไมโซลดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยาเลวาไมโซล
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ ผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคตับ และผู้ป่วยด้วยโรคหนังแข็ง (Sjogren’s syndrome)
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเลวาไมโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเลวาไมโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลวาไมโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การรับประทานยาเลวาไมโซลร่วมกับยาแก้โรคลมชัก เช่น Phenytoin อาจทำให้ร่างกายได้ รับพิษหรือผลข้างเคียงจาก Phenytoin เพิ่มมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาเลวาไมโซลร่วมกับยารักษาโรคพยาธิบางรายการ สามารถทำให้การดูดซึมยาของยารักษาโรคพยาธิรายการนั้นๆถูกดูดซึมมากขึ้นหรือลดลง จนอาจส่งผลให้เกิดอาการข้าง เคียงเพิ่มขึ้นหรือลดฤทธิ์ของการรักษา ยารักษาโรคพยาธิกลุ่มที่กล่าวถึงได้แก่ Ivermectin จะมีการดูดซึมได้มากขึ้น ส่วน Albendazole จะถูกดูดซึมได้น้อยลง จึงควรต้องปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสมกับคนไข้
  • การรับประทานยาเลวาไมโซลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดอาการหน้าแดง และหัวใจเต้นเร็ว หรือที่เรียกว่า ปฏิกิริยา Disulfiram - like reaction จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาเลวาไมโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาเลวาไมโซลระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเลวาไมโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลวาไมโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
BIOVAM (ไบโอแวม) Biochemix
DEWORMIS (เดเวอร์มิส) GSK
DICARIS (ไดคาริส) J & J (Ethnor)
LEVAZE (เลวาเซ) Nidus
LEVOMOL (เลโวโมล) Cipla
L-VIN (แอล-วิน) Intra Labs
L-VIN KID (แอล-วิน คิด) Intra Labs
OLCARIS (ออลคาริส) Olcare (Olski)
VERMISOL (เวอร์ไมโซล) Khandelwal (Xenon)

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Levamisole [2014,Sept27]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/levamisole/?type=full&mtype=generic [2014,Sept 27]
3 http://www.mims.com/India/drug/search/?q=levamisole [2014,Sept 27]