เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเด็ก ตอนที่ 3

การติดเชื้อหูดหงอนไก่ในเด็ก เป็นไปได้หรือ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งปากมดลูกในอนาคต คือการติดเชื้อหูดหงอนไก่ อาจเกิดขึ้นในเด็กโดยไม่ได้มีการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนก็ได้นะครับ การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาที่ตรวจพบได้จากชิ้นเนื้อเล็กๆที่ตัดออกไปตรวจ ก็อาจนำมาตัดสินการวินิจฉัยที่แน่นอนไม่ได้ ที่สำคัญคือ มีรายงานว่าสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ได้ที่นิ้วมือของผู้ใหญ่ที่มีหูดหงอนไก่อยู่ จึงสรุปได้ว่า การติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ ไม่ใช่ว่าจะมาจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสียทั้งหมด อาจติดมาจากมือของผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเด็กก็ได้ อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกหรือเด็กครับ มีรายงานเกี่ยวกับเด็กหญิง 11 ราย อายุเฉลี่ยอายุ 2.3 ขวบ ที่ได้รับการวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายว่าเป็นหูดหงอนไก่และได้รับการตัดออกแล้ว พบว่าทั้ง 11 รายมีผลการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่เป็นบวก แต่มีเพียง 9 รายเท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ครับ แพทย์จึงอาจแนะนำให้ทำการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ในเด็กเหล่านี้ด้วย เพื่อความแน่นอนในการวินิจฉัยยิ่งขึ้นนั่นเองครับ หูดหงอนไก่และการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศถึงแม้ว่าจะพบได้ยาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทารกและเด็กที่ไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนในกลุ่มเด็กสาวที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ได้ 13-38% โดยมีอัตราการพบหูดหงอนไก่ได้ 3% และอาจพบว่ามีผลการตรวจทางเซลล์วิทยา (หรือแพปสเมียร์/ Pap smear) ผิดปกติได้ด้วยนะครับ ภาวะอื่นๆที่พบได้ของบริเวณฝีเย็บ (ผิวหนังช่วงระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนัก) ซึ่งอาจดูเหมือนหูดหงอนไก่ ก็ได้แก่ หูดข้าวสุก ไฝ ติ่งเนื้อ หูดซิฟิลิส และเนื้องอกบางชนิด เป็นต้นครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.