เรื่องเฉพาะสตรี...วัยสาว ตอนที่ 5 และตอนจบ

ตกขาวลักษณะใดที่ไม่ปกติ?

ตกขาวที่สตรีในวัยสาวถึงวัยเจริญพันธุ์มี ไม่ว่ามากหรือน้อย ควรถือว่าเป็นปกติไว้ก่อน ถ้าหากไม่มีกลิ่น อาการคัน หรือสีสันผิดปกติดูคล้ายหนอง เช่น สีออกเขียว ออกเหลืองหรือมีเลือดปน (ดำๆแดงๆ) เพราะในครึ่งแรกของรอบเดือน (ก่อนไข่ตก) นั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว จะทำให้มูกปากมดลูกมีปริมาณมาก ใส และเหนียว (ยืดได้ยาว) มากขึ้นเรื่อยๆ จนเหนียวและใสมากที่สุดในวันไข่ตก ซึ่งแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ที่มีบุตรยากก็ได้นำหลักการนี้มาเป็นเกณฑ์ข้อหนึ่ง ในการพิจารณาดูว่าวันใดเป็นวันไข่ตก หลังจากไข่ตกไปแล้ว มูกจะมีลักษณะข้นขาวมากขึ้นเรื่อยๆจากอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ดูคล้ายแป้งเปียก จนกระทั่ง 14 วันหลังจากนั้นก็จะถึงวันที่เริ่มมีประจำเดือนออกมาไงครับ

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการตกขาวผิดปกติมีอยู่ 3-4 อย่าง ก็คือ

  1. การติดเชื้อราในช่องคลอด มักจะมีอาการคันเป็นอาการเด่น ลักษณะของตกขาวจะเป็นหย่อมคราบสีขาวข้น คล้ายคราบน้ำนมในปากเด็กอ่อน การรักษาอาจใช้ยารับประทานจำพวก คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ขนาด 200 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ดก่อนนอน 5 คืน หรือยาเหน็บจำพวก โคลไตรเมโซล (Clotrimazole) ขนาด 100 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ดก่อนนอน 6 คืน ก็ได้ผลดี หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ขนาดและวิธีใช้ให้ปรึกษาเภสัชกรจนเข้าใจดีเสียก่อนนะครับ ยาทาไม่ค่อยได้ผลเพราะบริเวณที่มีการติดเชื้อนั้นอยู่ภายในช่องคลอด แต่ถ้าหากลักษณะตกขาวเป็นปกติดี มีอาการคันและรอยแดงอยู่ที่ปากช่องคลอดหรือขาหนีบ แสดงว่าเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกอักเสบติดเชื้อรา อย่างนี้ยาทาจะได้ผลดีครับ ทาสัก 7 วันจึงจะเพียงพอนะครับ
  2. การติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด (การติดเชื้อทริโคโมแนส) อย่าเพิ่งตกใจไปครับว่าจะเห็นหนอนพยาธิตัวยาวๆ เลื้อยออกมาจากช่องคลอดหากเป็นโรคนี้ เชื้อพยาธิที่ว่านี้เป็นเชื้อโปรโตซัว/Protozoa (สัตว์เซลล์เดียวตัวเล็กมาก) มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรอกครับ ต้องเอาตกขาวไปป้ายลงบนแผ่นแก้วแล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงจะเห็น จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง หากจะรักษาให้หายขาดจึงต้องรักษาฝ่ายชายด้วยถึงแม้จะไม่มีอาการอะไร แล้วก็อย่าลืมห้ามไม่ให้ไปซุกซนเอาเชื้อมาให้อีกล่ะ ลักษณะตกขาวจะมีสีเขียวเป็นฟอง อาการคันมีได้ แต่ไม่เด่นอย่างเชื้อรา การรักษาต้องรับประทานยาจำพวก เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ขนาด 200 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด (รวมเป็น 400 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารทันที (เช้าครั้ง เย็นครั้ง) 7 วัน หรือใช้ยาเหน็บช่องคลอดสัก 7 วันก็ได้ครับ (มักจะเป็นยาผสมกันหลายชนิด) ส่วนฝ่ายชายคงรับประทานได้อย่างเดียวเท่านั้น และระหว่างการรักษาห้ามรับประทานสุราโดยเด็ดขาดนะครับ อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างหนักจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ การซื้อยารับประทานเอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา จนเข้าใจวิธีกินยา และผลข้างเคียงของยาก่อนเสมอนะครับ
  3. เชื้อโรคที่ไม่ใช้ออกซิเจนในช่องคลอดมีมากเกินไป (แต่ไม่ใช่การติดเชื้อ) อ้าว! เขียนอย่างนี้ก็แปลว่าในช่องคลอดมีเชื้อโรคอยู่เป็นปกติอยู่แล้วสิ ถูกต้องครับ ตามปกติในช่องคลอดนั้นมีเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อแบคทีเรียเจ้าถิ่นที่เป็นมิตรกับร่างกายชื่อ แลคโตบาซิลลัส/Lactobacillus (คุ้นๆไหมครับ) อยู่ในสัดส่วนที่มากกว่าเชื้ออื่นๆ เจ้าจุลินทรีย์ตัวนี้ใช้ออกซิเจนและไกลโคเจน (สารอาหารจำพวกแป้ง) ที่ผนังช่องคลอดผลิตกรดแลคติก (Lactic acid) ออกมา ทำให้ช่องคลอดมีค่าพีเอช (pH, ค่าความเป็นกรดด่าง) เป็นกรดอยู่เสมอ (ถ้าช่องคลอดไม่เป็นกรดถือว่าผิดปกติและจะติดเชื้อโรคได้ง่าย) หากเชื้อนี้ไม่มี หรือลดจำนวนลง นั่นก็หมายความว่ากลับมีเชื้ออื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นเชื้อโรคที่ไม่ใช้ออกซิเจนเด่นขึ้นมาแทน ช่องคลอดก็จะมีค่าพีเอชค่อนไปทางเป็นกลาง เชื้อพวกนี้จะทำให้เกิดอาการตกขาวที่ผิดปกติไม่มาก คือขาวหรือเทาเนียน ไม่ข้น คันเพียงเล็กน้อยหรือไม่คันเลยก็ได้ แต่ที่สำคัญคือมีกลิ่นคล้ายคาวปลา (นึกถึงกลิ่นตามสะพานปลาแถวชายทะเลดูนะครับ) และจะมีกลิ่นรุนแรงมากหากฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิภายในช่องคลอด (บางคู่มาด้วยอาการนี้เลย) การรักษานิยมใช้วิธีการรับประทานยาจำพวก เมโทรนิดาโซล ในขนาดต่ำๆ คือขนาดเม็ดละ 200 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร เพื่อปรับลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนลง เชื้อแลคโตบาซิลลัสจะได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นจนเป็นปกติ
  4. เป็นมะเร็งปากมดลูก มักจะมีตกขาวในปริมาณมากกว่าปกติ คล้ายหนอง บางครั้งมีเลือดปน หลังมีเพศสัมพันธ์มักจะมีเลือดปนออกมากับตกขาวด้วย (ถ้าเป็นความผิดปกติที่ปากมดลูกในระยะก่อนมะเร็งมักไม่มีอาการ) การป้องกันโรคนี้ได้ผลดีและมีทำกันแพร่หลายอยู่แล้ว ก็คือการตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกให้เจอเสียตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง และก็มีโอกาสที่จะเจอได้เป็นระยะเวลายาวนานทีเดียว เพราะว่าในปัจจุบันนี้ทราบสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้แน่นอนแล้วว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ (เอชพีวี/ HPV, Human papilloma virus) ซึ่งได้รับมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่กว่าที่การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะก่อให้เกิดความผิดปกติรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งนั้น ใช้เวลาตั้ง 10-20 ปี (ถ้าผู้ได้รับเชื้อมีภูมิต้านทานปกติ) ดังนั้นถ้าสตรีทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรืออายุมากกว่า 35 ปี หากไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพียงปีละครั้ง อาจเป็นวิธีแพปสเมียร์ (Pap smear) หรือวิธีป้ายปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วดูด้วยตาเปล่าก็ได้/VEA/Visualized examination with acetic acid (วิธีนี้มีทำอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน เช่น ร้อยเอ็ด หนองคาย ยโสธร อำนาจเจริญ) ก็คงไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วล่ะครับ เพราะถ้าเจอเสียตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้น รักษาให้หายขาดได้เกือบร้อยละร้อยทีเดียว ด้วยวิธีการรักษาแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น การจี้ด้วยความเย็น การตัดออกด้วยห่วงไฟฟ้า การตัดออกด้วยใบมีด การจี้ด้วยไฟฟ้า การจี้หรือตัดออกด้วยแสงเลเซอร์ เป็นต้น แต่ถ้าหากเป็นมะเร็งเสียแล้ว การรักษาในระยะที่ 1 แม้จะยังได้ผลดีอยู่ ไม่ว่าการผ่าตัดหรือฉายรังสีรักษา ก็มีผลข้างเคียงไม่ใช่น้อย และหากเป็นระยะที่ 2-3-4 แล้วละก็ ผลการรักษาก็แย่มากขึ้นโดยลำดับ

สรุปเรื่องเฉพาะสตรีวัยสาว

การมีประจำเดือนเป็นอีกก้าวหนึ่งของชีวิตลูกผู้หญิง เป็นความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของธรรมชาติที่เป็นไปเพื่อการเตรียมพร้อมที่จะให้กำเนิดแก่ชีวิตใหม่ สาวน้อยในวัยนี้ไม่ควรถือว่าการมีประจำเดือนเป็นตัวถ่วงเราจากกิจกรรมต่างๆ โดยสามารถทำทุกอย่างได้ตามปกติ หากจำเป็น (เช่น การต้องไปว่ายน้ำในช่วงนั้น) เราก็สามารถเลื่อนการมีประจำเดือนครั้งนั้นออกไปได้บ้าง (ศึกษาเรื่องการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน) และเราควรได้รู้รูปแบบประจำเดือนที่ปกติและผิดปกติเป็นอย่างไร รวมทั้งการดูแลด้วย ดังได้กล่าวแล้วในตัวบทความ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.