เรื่องเฉพาะสตรี...วัยสาว ตอนที่ 4

ควรรับประทานยาบำรุงธาตุเหล็กเสริมเมื่อมีประจำเดือนหรือไม่?

โดยปกติแล้ว การมีประจำเดือนไม่ถึงกับทำให้โลหิตจางหรือขาดธาตุเหล็กหรอกครับ มันน้อยมาก (รอบละไม่เกิน 80 ลูกบาศก์เซนติเมตร) เมื่อเทียบกับเลือดที่มีอยู่ทั้งหมดของร่างกาย (4-5 ลิตร) จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานธาตุเหล็กเสริม อาหารตามปกติก็มีเพียงพอที่จะชดเชยให้แก่ร่างกายอยู่แล้วครับ โดยอาหารที่มีธาตุเหล็กอยู่ ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้ดีนั้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือด เครื่องใน ในผักใบเขียวก็มีมาก แต่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ไม่ดีนัก ข้อควรระวังก็คือ หากเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งมักจะมีอาการซีดเหลือง ตับโต ม้ามโต พุงโร ก้นปอด ต้องไปรับเลือดบ่อยๆ ใบหน้ามีลักษณะเฉพาะ พบมากแถบภาคอีสานและภาคเหนือ มักจะมีธาตุเหล็กตกค้างอยู่ในร่างกายมากเกินไปจนเป็นพิษต่ออวัยวะต่างๆอยู่แล้ว ห้ามรับประทานธาตุเหล็กเสริมโดยเด็ดขาด เพราะต้องใช้ยาขับเหล็กออกจากร่างกายเป็นระยะด้วยซ้ำไป

ควรใช้ผ้าอนามัยและรักษาความสะอาดอย่างไร?

ชนิดของผ้าอนามัยที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือแบบแผ่นและแบบสอด เฉพาะแบบแผ่นก็มีทั้งแบบแถบกาวติดกับกางเกงใน และแบบสายซึ่งตามโรงพยาบาลต่างๆนิยมใช้กับสตรีหลังคลอด ส่วนเรื่องมีปีกไม่มีปีก มีชาเขียวไม่มีชาเขียว วันมาเบา วันมามาก หรือกลางวันกลางคืน ก็เป็นกลเม็ดทางการค้าที่แต่ละบริษัทจะนำมาใช้กัน พิจารณาดูเอาเองตามสามัญสำนึกนะครับว่าควรจะใช้แบบใด ที่แน่ๆควรเปลี่ยนทุก 4-6 ชั่วโมง หากทิ้งไว้นานและประจำเดือนมามาก ถ้าเป็นแบบแผ่นก็คงไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเท่าไร อย่างมากก็คงอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา แต่ภายนอกเท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นแบบสอดล่ะก็ เคยมีรายงานการติดเชื้อในช่องคลอดแล้วลุกลามไปเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) จนถึงกับช็อกมาแล้วนะครับ แต่ข้อดีของแบบสอดก็คือใส่แล้วยังสามารถว่ายน้ำ หรือใส่ชุดว่ายน้ำเพื่อการนำเสนอต่อสายตาสาธารณชนได้โดยไม่รู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ (เช่นในกรณีของนางแบบ นางงาม นักกีฬายิมนาสติก เป็นต้น)

ระหว่างมีประจำเดือนมีข้อควรระวังอะไรบ้าง?

ระหว่างมีประจำเดือน ช่องคลอดจะสูญเสียความเป็นกรดไปชั่วคราว เนื่องจากเลือดมีค่าพีเอช (pH ค่าความเป็นกรด ด่าง) เป็นกลางและเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค อาจกล่าวได้ว่าปราการธรรมชาติของช่องคลอดนั้นสูญเสียไป จึงไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างนี้ และไม่ควรใช้อะไรก็ตามที่ไม่สะอาดเพียงพอ สอดใส่เข้าไปอีกด้วย ผ้าอนามัยแบบสอดก็ควรสอดใส่อย่างระมัดระวังไม่ให้โดนอะไรก่อนสอดเข้าไป นอกจากมือที่ได้ล้างด้วยน้ำและสบู่จนสะอาดแล้วเท่านั้น

ควรทำความสะอาดช่องคลอดอย่างไร? บ่อยแค่ไหน?

ในระหว่างการมีประจำเดือน หรือไม่มีประจำเดือนก็ตาม วิธีการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก็คงไม่แตกต่างกัน หากแต่ช่วงที่มีประจำเดือนคงต้องทำบ่อยขึ้น (ตามเวลาที่เปลี่ยนผ้าอนามัยไงครับ) โดยการใช้สบู่อ่อนๆ (ยี่ห้ออะไรก็ได้) และน้ำประปา แล้วซับให้แห้งด้วยกระดาษชำระหรือผ้าขนหนู ห้ามสวนล้างช่องคลอดโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน เพราะการสวนล้างช่องคลอด เป็นการทำลายหรือลดจำนวนของเชื้อแบคทีเรียเจ้าถิ่น (แลคโตบาซิลลัส Lactobacilli) ลง ทำให้ไม่มีปราการธรรมชาติ นำไปสู่การติดเชื้อก่อโรคชนิดต่างๆรวมทั้งเชื้อราในเวลาต่อมา และการสวนล้างระหว่างมีประจำเดือนอาจทำให้เชื้อโรคต่างๆในช่องคลอดถูกพัดพาขึ้นไปในโพรงมดลูก เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูกและในอุ้งเชิงกรานได้อีกด้วย

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.