เรื่องวุ่นๆ ของวุ้นตา

เรื่องวุ่นๆของวุ้นตา

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมผ่านเฟซบุ๊ก โอ้อวดสรรพคุณในการรักษาโรค ต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก วุ้นในตาเสื่อม และโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสายตา โดยมีการแสดงเลขทะเบียน อย. ว่า

จากการตรวจสอบพบว่าเลขทะเบียนดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนของอาหารเสริม ไม่ใช่ยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนที่โฆษณาว่ารักษาโรคทางตา เช่น วุ้นในตาเสื่อมได้นั้น เป็นข้อมูลความรู้ที่ผิด เพราะแท้จริงแล้ว วุ้นในตานั้นเป็นเส้นโปรตีนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาจจะหายไปได้เอง หรือไม่หายไปก็ไม่เป็นอะไร ไม่จำเป็นต้องรักษา หรือการรักษาต้อลมได้นั้น ข้อเท็จจริงก็คือ ต้อลมเป็นภาวะเยื่อตาอักเสบ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อาจจะแค่หยอดยาก็หายได้ เมื่ออักเสบก็จะเกิดต้อลมขึ้นอีกเป็นระบบตามธรรมชาติ

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า จากการดูส่วนผสมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นส่วนประกอบปกติของอาหารเสริม หากทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เว้นในผู้ที่อาจจะมียาบำรุงจากแพทย์ที่ทานเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อทานอาหารเสริมเข้าไปอีกอาจจะได้รับสารต่าง ๆ ในปริมาณที่มากเกินไป และอาจเกิดอันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานอาหารเสริมต่าง ๆ

วุ้นตา (Vitreous) มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายเจล (Gel-like substance) ที่ช่วยยึดให้ลูกตามีรูปทรงกลม โดยมีเส้นใยหลายล้านเส้นพันกันในวุ้นตาและยึดติดกับผิวของจอตา

เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนวุ้นตาจะเสื่อมตัวมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ หดตัว ภาวะวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นภาวะปกติที่มักเกิดกับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และมักเกิดมากในผู้ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป

โดยความเสี่ยงที่จะทำให้วุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าปกติ ได้แก่ การผ่าตัดต้อกระจก (Cataract surgery) การมีภาวะสายตาสั้น (Myopia) และการได้รับบาดเจ็บที่ตา ทั้งนี้ คนที่วุ้นตาเสื่อมในข้างหนึ่งมักจะมีอาการวุ้นตาเสื่อมในอีกข้างหนึ่งเสมอ แม้เวลาจะห่างกันหลายปีก็ตาม

การหดตัวของน้ำวุ้นตานี้จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกห่างออกจากจอประสาทตา รวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีลักษณะเป็นตะกอนขุ่น ทำให้เห็นเป็นเงาเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมองเห็นเป็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ (Cobweb) ลอยไปมา โดยเฉพาะเวลากลอกตาหรือมองที่ผนังสีขาวหรือท้องฟ้า

นอกจากนี้เมื่อวุ้นตาเหลวและหดตัวจะส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่ผิวของจอตา ทำให้เกิดการกระตุ้นเห็นเป็นแสงคล้ายแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปหรือแสงฟ้าแลบในตา ผู้ป่วยมักสังเกตเห็นแสงแฟลชได้ชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืดหรือในเวลากลางคืน

และในกรณีที่การหดตัวนี้มีแรงดึงมาก อาจเกิดการดึงรั้งจอประสาทตาจนเกิดการฉีกขาด หรือเส้นเลือดที่จอประสาทตาฉีกขาดจนมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาได้ หรืออาจทำให้วุ้นตาหลุดออกจากจอประสาทตา (Posterior vitreous detachment) ทำให้การมองเห็นในตำแหน่งที่จอประสาทตาหลุดลอกมืดไป และถ้าทิ้งไว้นานจอประสาทตาบริเวณนั้นจะตาย ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

โดยทั่วไปภาวะวุ้นตาเสื่อมจะไม่มีผลต่อการเห็น ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา ผู้ป่วยจะยังคงมองเห็นจุดดำลอยไปมาแต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ เพียงแต่จะทำให้รู้สึกรำคาญว่ามีอะไรลอยไปลอยมาอยู่ในลูกตา

แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงของอาการ เช่น ปริมาณของจุดดำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเห็นแสงแฟลชถี่ขึ้น หรือกรณีจอตามีการฉีกขาด (Retinal tears) หรือหลุดออก (Retinal detachments) ต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะการรักษาที่เร็วจะมีโอกาสในการหายเป็นปกติได้สูง

แหล่งข้อมูล

  1. เตือนอย่าหลงเชื่ออาหารเสริมอ้างรักษา วุ้นตาเสื่อม-ต้อลม. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000008945&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, February 3].
  2. Facts About Vitreous Detachment. https://nei.nih.gov/health/vitreous/vitreous [2016, February 3].
  3. Vitreous Degeneration. http://www.med.umich.edu/1libr/Ophthalmology/comprehensive/VitreousDegeneration.pdf [2016, February 3].