เรื่องน่ารู้ ในผู้สูงอายุ (ตอนที่ 4)

นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตประธานสภาผู้สูงอายุ กล่าวว่าในแต่ละตำบลจะมีผู้สูงอายุเฉลี่ย 100 – 1,000 คน โดยให้ผู้สูงอายุดำเนินการกันเองเพื่อผู้สูงอายุด้วยกัน ผ่านการจัดตั้งเป็นชมรม โดยที่สมาชิกมีการพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน จะช่วยให้ผู้สูงอายุทุกคนคลายเหงาและมีสุขภาพจิตดีขึ้น ชมรมจะเป็นกุญแจดอกสำคัญนำไปสู่การดำเนินงานกับผู้สูงอายุด้านอื่นๆ

การดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care) เป็นการตอบสนองความจำเป็นและความต้องการเฉพาะ ในด้านบริการช่วยการดำรงชีวิต (Aassisted living) การดูแลช่วงกลางวัน, (Adult day care) การดูแลระยาว (Long term care) สถานพักฟื้นผู้ป่วยสูงอายุ (Nursing homes) สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต (Hospice care) และการดูแลตามบ้าน (In-Home care)

ผู้สูงอายุในประเทศในเอเชียมักไม่ค่อยอาศัยสถานดูแลของรัฐ เพราะวิธีการแต่ดั้งเดิมคือการดูแลผู้สูงอายุโดยสมาชิกในครอบครัวที่เยาว์วัยกว่า การดูแลผู้สูงอายุมักเน้นหนักเรื่องความต้องการส่วนบุคคลและส่วนสังคมของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในชีวิตประจำวันและการดูแลสุขภาพ แต่ปรารถนาจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

สิ่งสำคัญในการออกแบบที่อยู่อาศัย กิจกรรม บริการ และการฝึกอบรมพนักงานผู้ให้บริการ ควรให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-centered) โดยผู้สูงอายุทั่วโลก มีจำนวนมากที่อยู่ในตลาดส่วนที่ไม่มีเงินจ่าย (Unpaid market sector) หากมีสิทธิเลือก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ปราถนาที่จะอยู่ในบ้านของตนเองยามชรา

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการทำงาน (Functioning ability) และจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือภายในบ้าน หรือย้ายออกไปสู่สถานคนชรา ส่วนลูกผู้สูงอายุที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว มักต้องเผชิญกับความท้าทายในการช่วยเหลือพ่อแม่ของตน ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง

ประเทศไทยได้เจริญรอยตามรูปแบบที่พบเห็นกันทั่วโลก ในเรื่องกลุ่มผู้สูงอายุที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังการควบคุมการเจริญพันธุ์ (Fertility control) ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ อัตราการเกิดที่ลดลง และอายุคนยืนยาวขึ้น รัฐบาลไทยตระหนักถึงแนวโน้มนี้ แต่ยังคงปล่อยให้เป็นภาระของครอบครัวในการดูแลสมาชิกสูงอายุ แทนการกำหนดเป็นนโยบายช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ในปี พ.ศ. 2554 รัฐอุปถัมภ์บ้านคนชราเพียง 25 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งรองรับผู้สูงอายุได้ไม่เกิน 2 - 3 พันคน โครงการขนาดใหญ่มักบริหารจัดการโดยอาสาสมัครที่มีจำนวนค่อนข้างจำกัด จึงไม่มีมาตรฐานในเรื่องคุณภาพของการดูแล เนื่องจากการดูแลพ่อแม่ ได้ลดน้อยถอยลงในชนรุ่นใหม่ ดังนั้น จึงมีความต้องการสูงที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

ในขณะที่มีโครงการต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุ สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ประเด็นมักอยู่ที่ความเท่าเทียมกันในสังคม ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการดูแล (Care resources) ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ยากจนก็คงต้องพึงพาการดูแลเท่าที่รัฐจะเอื้ออำนวยให้ อย่างไรก็ตาม กว่า 96% ของประชากรทั่วประเทศได้รับการประกันสุขภาพทางใดทางหนึ่ง

แหล่งข้อมูล:

  1. ชี้คนแก่กว่า 70% เหงา เหตุเพราะไม่มีเพื่อน แนะตั้งชมรมผู้สูงอายุ ช่วยให้สุขภาพจิตดี http://www.naewna.com/local/22089 [2012, September 24].
  2. Elderly_care. http://en.wikipedia.org/wiki/Elder_care [2012, September 24].