เรื่องน่ารู้ ในผู้สูงอายุ (ตอนที่ 3)

นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตประธานสภาผู้สูงอายุ พูดถึงประเด็นสำคัญของผู้สูงอายุซึ่งประกอบด้วยการสร้างเสริมสุขภาพโดยให้ความรู้เรื่องโภชนาการ อาหารการกินให้ถูกต้อง การออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง การสร้างสุขภาพจิต เนื่องจากผู้สูงอายุร้อยละ 70 - 80 จะมีอาการเหงา เพราะเพื่อนๆ ทยอยเสียชีวิตไป ดังนั้น รพ.สต.จึงควรส่งเสริมให้ตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้านหรือทุกตำบล

การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้สูงอายุ มีทั้งการหลงลืม ความก้าวร้าวทางร่างกาย การใช้วาจารุนแรง เนื่องจากโรคซึมเศร้า (Depression) วิตกจริต (Psychosis) หรือโรคสมองเสื่อม (Dementia) ปัจจุบันพบโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) เป็นจำนวนถึงกว่าร้อยละ 50 ถึง 80 ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม การรักษาโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถหยุดวิวัฒนาของโรคนี้ในคนที่เป็นได้ แพทย์ทำได้เพียงชะลออาการเสื่อมลงของโรคนี้ได้เพียงชั่วคราวและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคนี้ด้วย

อุปนิสัยของผู้สูงอายุถูกกำหนดจากช่วงเวลาระหว่างความมั่นคงกับความหมดหวังในชีวิต ระหว่างที่ ผู้สูงอายุรำลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ มีแต่ประสบการณ์ที่น่าเศร้ามากมาย บางคนจะถูกทอดทิ้งให้รู้สึกขมขื่นและสิ้นหวัง

ส่วนผู้สูงอายุบางคนที่รู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง ก็จะรู้สึกมั่นคงในชีวิต ซึ่งช่วงเวลาของความสำเร็จผู้สูงอายุเหล่านี้จะมองอดีตที่เป็นเรื่องเศร้าเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นรู้สึกพึงพอใจ ผู้สูงอายุเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีปัญญาดีแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความตายในไม่ช้า

ช่วงปลายชีวิตของคนเหล่านี้ต้องใช้ประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิต ความสามารถในการรับมือ [กับสถานการณ์ต่างๆ] เป็นทักษะสำคัญของการดำรงชีวติที่มีอายุมากขึ้นโดยไม่จมปลักกับเรื่องในอดีต วิธีการปรับตัวและต่อสู้กับชีวิตจะสะท้อนกระบวนการชราภาพของผู้สูงอายุ ในเชิงจิตวิทยาทางสังคม (Psycho-social)

ผู้ที่เริ่มสูงอายุจะยังคงมีสุขภาพดีซึ่งอวัยวะต่างๆ ยังทำหน้าที่ได้เองโดยปราศจากความช่วยเหลือ และสามารถทำภารกิจต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ส่วนผู้สูงอายุที่อายุมากขึ้นต้องพึ่งการดูแลพิเศษเนื่องจากการเสื่อมลงของสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บ

ในสังคมปัจจุบันที่ให้คุณค่ากับประสิทธิผลและการสร้างคุณประโยชน์ ซึ่งผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้เท่าเทียมกับคนหนุ่มสาว ในหลายๆด้าน ดูเหมือนผู้สูงอายุเองจะเป็นภาระต่อสังคมที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุน้อยลง จึงเป็นความขัดแย้งที่ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มแยกตัวออกจากสังคม

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มักให้ความเอาใจใส่ต่อผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามโครงสร้างของครอบครัวในประเทศอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนไปใน 100 ปีที่ผ่านมา จากครอบครัวใหญ่ที่อยู่รวมกันของคนหลายๆ รุ่น (Extended family) อย่างใกล้ชิดกันของพ่อแม่ลูกหลานและผู้สูงอายุ ได้กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) ที่มีแต่พ่อแม่ลูกเท่านั้น ผู้สูงอายุจึงถูกแยกออกมาอยู่ตามลำพัง

แหล่งข้อมูล:

  1. ชี้คนแก่กว่า 70% เหงา เหตุเพราะไม่มีเพื่อน แนะตั้งชมรมผู้สูงอายุ ช่วยให้สุขภาพจิตดี http://www.naewna.com/local/22089 [2012, September 23].
  2. Old age. http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2012, September 23].
  3. Old age. http://www.britannica.com/EBchecked/topic/426737/old-age [2012, September 23].