เรื่องน่ารู้ ในผู้สูงอายุ (ตอนที่ 1)

ในงานประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี พ.ศ. 2555 ได้มีการอภิปรายเรื่อง “70 ปีไม่มีคิว - การบริหารจัดการให้ผู้สูงอายุได้รับบริการที่ดี” โดยนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช อดีตประธานสภาผู้สูงอายุ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากร ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมาแล้ว 2 - 3 ปี

ในปี พ.ศ. 2543 จำนวนผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มขึ้นถึง 35 ล้านคน จากจำนวนประชากร 280 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญประชาการศาสตร์ ประมาณการว่า ชาวอเมริกันกว่า 50 ล้านคน หรือประมาณ ร้อยละ 17 ของประชากรจะมีอายุ 65 ปี หรือมากกว่า ในอีก 20 ปี ให้หลัง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2563

แม้จะมีการใช้นิยามของผู้สูงอายุ (Old age or elderly) ร่วมกัน แต่ไม่มีข้อตกลงเป็นทางการว่า ณ อายุเท่าไร จึงจะเป็นผู้สูงอายุ ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ยอมรับอายุตามการนับทางปฏิทิน (Calendar age) กล่าวคืออายุตามผลกระทบทางชีววิทยา (Biological effects) อยู่ที่ 65 ปี

แต่ในประเทศกำลังพัฒนา การนับอายุดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น บางคนเป็นผู้สูงอายุ เมื่อกลายเป็นปู่ย่าตายาย หรือเมื่อเริ่มทำงานน้อยลง โดยทั่วไป การเป็นผู้สูงอายุได้ก็ต่อเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถประกอบกิจกรรม[รวมทั้งการทำงาน] อย่างกระฉับกระเฉงได้อีกต่อไป

นิยามผู้สูงอายุ แตกต่างไปตามชนชั้นทางสังคม (Social class) หรือความสามารถในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติมักเป็นผลสะท้อนถึงสภาวะปัจจุบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Political and economic) [ในประเทศไทย อายุเกษียณการทำงานอยู่ 55 ปี หรือ 60 ปี] อย่างไรตาม สหประชาชาติให้ยึดถืออายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นเกณฑ์อของประชากรผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ คือขั้นตอนสุดท้ายของช่วงอายุ (Life span) ในคนปรกติ นิยามของคำว่า “สูงอายุ” ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ในมิติของชีววิทยา ประชากรศาสตร์ การจ้างงานและการเกษียณ อย่างไรก็ตาม ในทางสถิติและบริหารรัฐกิจ ผู้สูงอายุ หมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 (ในประเทศกำลังพัฒนา) หรือ 65 ปี (ในประเทศพัฒนาแล้ว) ขึ้นไป

จำนวนผู้สูงอายุกำลังขยายตัวไปทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) เพราะผู้เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเป็นจำนวนมากจนได้ชื่อว่า เป็นยุค “Baby boom” ตามด้วยการเพิ่มขึ้นของบริการและมาตรฐานของการดูแลสุขภาพ อันเป็นผลจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

ในทางการแพทย์ การศึกษาในเรื่องกระบวนการชราภาพ มีชื่อว่า “Gerontology” และการศึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เรียกว่า “Geriatrics”

นอกจากความหมายของขั้นตอนทุดท้ายในกระบวนการมีชีวิตอยู่ ผู้สูงอายุยังมีมิติสังคมวิทยาที่ต้องคำนึงถึงอีกด้วย กล่าวคือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มชนที่ได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ของผลกระทบทางกายภาพ (Physiological effects) ประสบการณ์ร่วม (Collective experiences) และค่านิยม (Shared values) ของชั่วอายุคนนั้นๆ ต่อสังคม

แหล่งข้อมูล:

  1. ชี้คนแก่กว่า 70% เหงา เหตุเพราะไม่มีเพื่อน แนะตั้งชมรมผู้สูงอายุ ช่วยให้สุขภาพจิตดี http://www.naewna.com/local/22089 [2012, September 21].
  2. Definition of an older or elderly person. http://www.who.int/healthinfo/survey/ageingdefnolder/en/index.html [2012, September 21].
  3. Old age. http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2012, September 21].
  4. Old age. http://www.britannica.com/EBchecked/topic/426737/old-age [2012, September 21].