สาระน่ารู้จากหมอตาตอน ผลข้างเคียงยาต้อหิน

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-9

หญิงวัยกลางคนมาพบจักษุแพทย์ด้วยอาการขอบตาขวารอบๆเบ้าตาดำคล้ำและดูลึกกว่าตาซ้ายอย่างชัดเจน โดยไม่มีอาการทางตาอย่างอื่น ผู้ป่วยให้ประวัติว่าสุขภาพร่างกายอื่นๆทั่วไปปกติดี นอนหลับพักผ่อนตามปกติ แต่มีประวัติเป็นต้อหินในตาขวา เพิ่งได้รับการรักษาด้วยยาหยอดตา 1+ ปี ความดันตาควบคุมได้ดี ไม่มีปัญหาทางสายตาแล้ว

ภาวะขอบตาดำคล้ำเกิดได้จากสาเหตุต่างๆมากมาย อาทิเช่น เกิดในคนที่มี ภาวะอ่อนแอ อิดโรย อดนอน เป็นโรคเรื้อรัง ร่างกายไม่สมบูรณ์ เป็นต้น แต่ภาวะดังกล่าวมักจะเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง

ปัจจุบันมีการใช้ยาหยอดตารักษาโรคต้อหินในกลุ่ม prostaglandin ซึ่งมีชื่อทางการค้า เช่น xalatan (latanoprost), travotan (travoprost), lumigan (bimatoprost), taflotan (tafluprost) เป็นต้น เป็นตัวยาที่จักษุแพทย์นิยมใช้เพราะ หยอดเพียงวันละ1 ครั้ง มีฤทธิ์ลดความดันตาได้ดีกว่ายาในกลุ่มอื่น แต่ผลข้างเคยที่พบบ่อยได้แก่ แสบตา เคืองตา ตาแดง ตามัว คันตา ตลอดจนเหนี่ยวนำให้เกิดกระจกตาอักเสบจากผู้ป่วยที่เคยเป็นกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม (herpes keratitis) มาก่อน

หลักจากมีการใช้ยาตัวนี้มากขึ้น นานขึ้น จึงพบความผิดปกติรอบๆตามากขึ้น ได้แก่ สีม่านตาเข้มขึ้น (เห็นชัดในคนที่มีม่านตาสีฟ้า) ขนตายาวขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้ก่อผลเสียอะไรมากนัก เป็นเฉพาะในแง่รูปลักษณ์ความสวยงาม ด้วยเหตุที่ต้อหินมักเป็นในตาทั้ง 2 ข้าง ต้องใช้ยาทั้ง 2 ตา การมีสีม่านตาเปลี่ยนไปทั้ง 2 ข้าง เจ้าตัวอาจไม่รู้สึกมากนัก โดยเฉพาะคนไทยมีสีม่านตาเข้มอยู่แล้วอาจจะไม่เห็นชัด

ปัญหาอีกประการของผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มนี้นานๆ ซึ่งระยะหลังมาพบแพทย์ด้วยอาการล่าสุดที่เรียกว่า prostaglandin associated periorbitopathy (PAP) ซึ่งได้แก่ ลักษณะหนังตาบนที่เคยหย่อนหายไป ร่องตาสองชั้นลึกลง ร่วมกับมีหนังตาตกเล็กน้อย ไขมันเบ้าตาส่วนล่างลดลง ลูกตาลึก (enophthalmos) ไขมันรอบๆเบ้าตาฝ่อไป (orbital fat atrophy) ถุงใต้ตาแบน มีลักษณะเหมือนลูกตาจมอยู่ในเบ้าตา ผิวหนังรอบ ๆ ดวงตามีสีคล้ำ ล่าสุด สภาวะ PAP มีรายงานจากการศึกษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางต้อหินจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รายงานไว้ในวารสาร Asia-Pacific Journal of Ophthalmology Vol.6 ปี 2017 นี้ว่า ภาวะ PAP มีจะมีผลเสียไม่มาก ได้แก่ ผลด้านสวยงาม เบ้าตาลึก ทำให้แพทย์วัดความดันตา ตลอดจนหากต้องผ่าตัดทำได้ยากขึ้น และพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิด PAP ได้แก่ สูงอายุ เมื่อเปรียบเทียบแล้วตัวยา bimatoprost และ travoprost พบได้บ่อยกว่า Latanoprost อีกทั้งหากมีการใช้ยากลุ่ม beta blocker ร่วมด้วย โอกาสเกิดPAPเป็นมากขึ้น ในทางตรงข้าม หากผู้ป่วยมีภาวะ BMI (body mass index) ที่สูง จะพบภาวะนี้น้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นที่ต้องใช้ยาในกลุ่มนี้ยังมีอยู่ คงต้องคำนึงถึงผลดีเทียบกับผลข้างเคียงก่อนตัดสินใจเปลี่ยนชนิดยาหยอด หรือยังคงใช้ยาเดิม