สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน กัญชากับต้อหิน

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-72

      

      ท่ามกลางการตื่นตัวของการใช้กัญชาอย่างอิสระเสรี หรือควรจำกัดเฉพาะทางการแทพย์ในบ้านเรา แม้ว่าในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีบางรัฐที่ใช้ได้อย่างอิสระเสรี มีบางเมือง เห็นในข่าวต่างประเทศ มีเทศกาลกัญชา มีการขายทั้งต้นกัญชา สอนวิธีปลูกและแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม มีผลิตผลจากกัญชาในรูปยา อาหารต่าง ๆ แม้แต่อุปกรณ์การเสพกัญชา แต่ก็มีบางรัฐที่ให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์ อีกทั้งระยะนี้มีรายงานการใช้กัญชารักษาโรคได้แบบครอบจักรวาล แล้วโรคตาล่ะ มีการใช้กัญชารักษาโรคตาอะไรได้บ้าง

      Cannabinoid เป็นกลุ่มสารประกอบที่มีในกัญชา มีฤทธิ์คล้ายสารสื่อประสาท ซึ่งต้องอาศัยมีตัวรับ (receptor) ถึงจะเกิดปฏิกิริยา ตัวกัญชา (phytocannabinoid) เป็น cannabinoid ที่ได้จากพืช มีสารประกอบหลายตัว เช่น tetrahydrocannabinol (THC), tetrahydrocannabinolic acid, cannabidiol (CBD), cannabigerol (CBG) ซึ่งบางตัวพบว่าไม่มีพิษ อีกทั้งยังพบว่าภายในตามี receptor จึงน่าจะมีบทบาทในการรักษาโรคทางตา

      ล่าสุดมีรายงานโดย David Turbert และ Dan T Gudgel เมื่อเดือน ก.พ. 2019 ของ AAO เขียนไว้ว่า ด้วยเหตุที่ต้อหินเป็นโรคเรื้อรังและทำให้ตาบอดโดยไม่กลับคืนหากรักษาช้า และการรักษาหลักได้ผลในปัจจุบัน คือ การลดความดันตาให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากกัญชาลดความดันตาได้ น่าจะป็นทางเลือกในการรักษา แม้ว่าจะมีการศึกษาพบว่า กัญชาสามารถลดความดันตาได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-1980 แต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งวิธีรับประทาน สูดดม พบว่าถ้าต้องการลดความดันตาให้ได้ 3-5 มม.ปรอท ต้องใช้ยาวันละ 6-8 ครั้ง ซึ่งไม่สะดวก อีกทั้งยายังมีฤทธิ์ต่ออารมณ์สมอง สุขภาพจิต ง่วง มีผลต่อสุขภาพปอด ขับรถ หรือใช้เครื่องกลไกในการทำงานไม่ได้ ซึ่งมีคนนำไปเปรียบเทียบกับการดื่มเหล้าก็ลดควมดันตาได้ เช่นกันหลังดื่ม 1 ชั่วโมง แต่ก็มีผลข้างเคียงคล้ายกัน จึงไม่เหมาะในการใช้รักษาโรคต้อหิน

      มีการศึกษานำ THC มาทำเป็นรูปยาหยอด พบว่าทำให้แสบตา เคืองตามาก และความดันตาไม่ลดลงเท่าไหร่ แม้มีคนทำเป็นยาเม็ด อมใต้ลิ้น ก็ไม่พบว่าลดความดันตาได้ ในทางกลับกัน กัญชาทำให้ความดันเลือดลดลง ลดเลือดที่จะไปเลี้ยงส่วนหลังและประสาทตา ยิ่งทำให้ภาวะต้อหินเลวลง กล่าวคือ โรคต้อหินที่ทำให้ตามัวลงอาจเกิดจากความดันตาที่สูง หรือมีเลือดเลี้ยงประสาทตาลดลง

      สำหรับ CBD ซึ่งพบว่าไม่มีผลต่ออารมณ์และทางสมอง บางรายงานพบว่ากลับทำให้ความดันตาขึ้นมากกว่า

      หากงานวิจัยสามารถสะกัดสารที่ดีบางตัวจากกัญชาที่ลดความดันตาได้ ลดอาการข้างเคียงลงในภายภาคหน้า กัญชาอาจมีบทบาทในการรักษาต้อหิน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีบทบาท

      จักษุแพทย์ส่วนใหญ่ในชมรมจักษุแพทย์รักษาต้อหินในชาวเมริกัน(American glaucoma society) สมาคมจักษุแพทย์อเมริกัน (American academy ophthalmology) และ Canadian glaucoma society ยังไม่ยอมรับการใช้กัญชาในการรักษาต้อหิน

      โดยสรุป ยังไม่มีการใช้กัญชารักษาต้อหิน เพราะ

      1. ตัวยาที่ได้ผลลดความดันตาได้ ก็อยู่แค่ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น

      2. อาจจะมีผลเสียต่อตามากกว่า ตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ มีสารเคมีจากควันบุหรี่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค AMD มากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า การสูดกัญญชาก็น่าจะมีผลคล้ายกัน อีกทั้งมันลดความดันโลหิต จึงอาจลดเลือดไปเลี้ยงประสาทตา ทำให้ภาวะต้อหินเลวลง

      3. กัญชามีผลต่อระบบประสาท มีผลเสียในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น มึนงง ขับรถไม่ได้ ทำงานกับเครื่องจักรไม่ได้ เป็นต้น