สาระน่ารู้จากหมอตาตอน มาเรียนรู้เรื่องแสงสีฟ้า (Blue light)

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-51

      

      คลื่นแสงความยาวต่าง ๆ (wave length of light) ที่คนเราเห็นนั้น อยู่ระหว่าง 400 – 700 นานอร์มิเตอร์ ให้สีต่าง ๆ ตามสีของรุ้งกินน้ำ ตั้งแต่ความยาวคลื่นสั้นสีม่วง น้ำเงิน ไปจนถึงความยาวคลื่นที่ยาวสุดเห็นด้วยตาคือสีแดง คลื่นแสงต่ำกว่า 400 หรือสูงกว่า 700 คนเรามองไม่เห็นตามหลักของคลื่นแสงขนาดต่าง ๆ คลื่นแสงที่สั้นจะมีพลังสูงกว่าคลื่นแสงยาว คลื่นสั้นใกล้ ๆ ความยาวคลื่นขนาด 400 ที่คนเรามองเห็น จึงมีพลังสูง มักเรียกกันว่า high energy visible light = HEV ซึ่งครอบคลุมแสงที่มีความยาวคลื่น 380-500 nm ได้แก่แสงสีม่วง คราม น้ำเงิน มักเรียกรวมกันว่าแสงสีฟ้า ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ขนาด สีฟ้าอมม่วงขนาด 380-450 nm หรือที่เรียกกันว่าฟ้าไม่ดี (bad blue) = blue violet และขนาด 450-500 nm มีสีอมเขียว (ฟ้าดี = good blue) = blue turquoise HEV มีความยาวคลื่นสั้นแต่พลังสูง มีการกระจาย (scatter) มาก มี flicker มาก จึงทำให้เกิด glare มาก การกระจายมากทำให้ focus ยาก

      แสงสีฟ้าโดยทั่วไป เมื่อเข้าตาเราจะผ่านกระจกตา แก้วตา ไปถึงจอตา ทำอันตรายต่อเซลส์ในจอตา ในขณะที่แสง UV นั้นกระจกตาและแก้วตาจะดูดซับไว้บางส่วน จึงไม่ค่อยมีอันตรายต่อจอตานัก อันตรายจากแสงสีฟ้า เคยพูดกันมานาน แต่ไม่ฮือฮามากนัก เพราะการที่คนเราสัมผัสแสงสีฟ้าไม่มากนัก แต่ปัจจุบันนอกจากแสงสีฟ้ามาจากดวงอาทิตย์แล้ว ยังมาจากเครื่อง digital device ในปัจจุบัน ได้แก่ TV, Computer, Laptop, Smartphone, Tablet, เครื่อง electronic ต่าง ๆ แม้แต่หลอด floresen และแสง LED ล้วนเปล่งแสงสีฟ้าออกมา อีกทั้งคนปัจจุบันทำงานอยู่หน้าจอต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งวัน ประเมินกันว่า 60% ของประชากรอยู่หน้าจอเหล่านี้มากกว่า 6 ชั่วโมง/วัน ไม่เว้นแม้แต่เด็กมักจะนั่งเล่นเกมส์วันละหลายชั่วโมง พูดง่าย ๆ คนในยุคปัจจุบันสัมผัสแสงสีฟ้ามากขึ้น

      เด็กจะได้รับอันตรายจากแสงสีฟ้ามาก เพราะต้องอยู่ในสภาพหน้าจอต่าง ๆ นานกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กมีแก้วตาที่ใส ยอมให้แสงสีฟ้าผ่านแก้วตาไปถึงจอตาได้ดีกว่า กล่าวคือ มีผู้ศึกษาพบว่าในคนอายุน้อยกว่า 25 ปี แสงสีฟ้าผ่านไปถึงจอตาได้ถึง 65% ในขณะที่อายุมากกว่า 25 ปี แสงสีฟ้าจะผ่านถึงจอตา 20% เพราะแก้วตาเริ่มเสื่อม มีสีเหลืองจะดูดซึมแสงสีฟ้าไว้บางส่วน สำหรับผู้สูงอายุที่ทำผ่าตัดต้อกระจกไปแล้วฝังแก้วตาเทียมในยุคแรก ๆ ไม่ได้คำนึงถึงแสงสีฟ้าที่จะเข้าจอตา ควรต้องใส่แว่นกันแสงสีฟ้า ในปัจจุบันแก้วตาเทียมรุ่นใหม่จะเติมสารดูดซึมแสงสีฟ้าไว้ปกป้องจอตาจากแสงสีฟ้า

      หลักฐานที่ทำให้คิดว่าแสงสีฟ้าทำลายจอตาและมีข้อเสียต่าง ๆ

      1. มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง ให้ส่องแสงสีฟ้าเข้าตา พบว่า เซลส์รับรู้การเห็นถูกทำลายไป

      2. มีการทดลองให้แสงสีฟ้าจำนวนเข้มข้นทันทีในลิง (acute expose) พบว่ามีการตาย photoreceptor cell เกิดขึ้น

      3. มีการศึกษาพบว่า แสงสีฟ้าทำให้เกิด mitochondrial dysfunction และ ganglion cell ในจอตา มี mitochondrial มาก จึงน่าจะถูกทำลายไปได้มาก

      4. สามารถทำให้สัตว์ทดลองเกิดภาวะจอตาเสื่อม (AMD) คล้ายโรคนี้ที่เกิดในคนที่ไม่รู้สาเหตุในคนยังไม่มีการศึกษาอันใดที่ยืนยันว่าโรค AMD ในคนนั้นเกิดจากแสงสีฟ้า แต่เชื่อว่าเกิดจากแสง UV จากแสงอาทิตย์มากกว่า

      5. มีรายงานในมนุษย์ที่สัมผัสแสงสีฟ้ามากและนานมีการเห็นสีบกพร่อง โดยบกพร่องต่อสีเขียว

      6. ในคนมีการศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงของ ERG (electroretinogram) เมื่อรับแสงสีฟ้ามาก ซึ่งบ่งว่าน่าจะมีเซลส์ในจอตาผิดปกติไป ถึงแม้ว่ายังไม่พบว่าการมองเห็นลดลงก็ตาม ซึ่งคาดว่าหากได้รับซ้ำ ๆ นาน ๆ อาจจะมีผลเสียเป็นรูปธรรมตามมา

      7. คาดกันว่าการได้รับแสงสีฟ้ามาก ๆ ในเวลากลางคืน อาจเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็งบางชนิด ตลอดจนก่อให้เกิดโรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน (ยังไม่มีการศึกษาที่ยั่งยืน)

      8. เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดภาวะ computer vision syndrome ทำให้แสบตา เคืองตา เมื่อยล้าจากแสงสีฟ้าจากจอภาพบนหน้าคอมพิวเตอร์ที่มีการกระจายมาก โฟกัสยาก

      ข้างต้นเป็นข้อเสียที่อาจเป็นไปได้ของแสงสีฟ้า (380-400 nm) แต่ก็มีส่วนของแสงสีฟ้าที่ดีอยู่บ้าง (400-450 nm) ได้แก่

      1. ช่วยให้การมองเห็นกลางคืนดีขึ้น

      2. ปรับ circular rhythm ที่เรียกกันว่า นาฬิกาชีวิต ในคนปกติคนเราปรับตัวในเวลากลางวันให้รู้สึกตัว กระตือรืนล้น มีความสนใจและความจำดี ขณะที่กลางคืนจะรู้สึกอยากพัก ง่วงนอน เป็นวงจรที่เชื่อกันว่าเกี่ยวกับสาร melatonin ที่สร้างจาก pineal gland และอิทธิพลจากแสงสีฟ้า การได้รับแสงสีฟ้าที่พอเหมาะทำให้วงจรนี้เป็นไปอย่างปกติ

      3. ทำให้เราตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า

      4. ช่วยความจำและการรียนรู้

      5. ปรับให้มีอารมณ์ดี

      6. มีการใช้แสงสีฟ้าในวงการแพทย์อื่น ๆ เช่น รักษาภาวะตัวเหลือในเด็กอ่อน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาสิว รักษาโรคซึมเศร้าบางอย่าง (seasonal affective disorder) เป็นต้น