สาระน่ารู้จากหมอตาตอน โรคทางกายที่มีตาแห้ง

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-45

      

      โรคทางกายบางชนิด ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการตาแห้งร่วมด้วย ที่พบบ่อย ได้แก่

      1. เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีผลต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยพบมีอาการตาแห้งได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากวัยผู้สูงอายุและเพศหญิง มีรายงานว่า พบความชุกของภาวะตาแห้งได้ถึงร้อยละ 20.6 โดยเฉพาะในผู้ที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ เนื่องมาจากมีหลอดเลือดไปเลี้ยงต่อมน้ำตาบกพร่อง มีปัญหาของระบบวงจรประสาทที่กระตุ้นการสร้างน้ำตา ทำให้การสร้างน้ำตาลลดลง ร่วมกับการทำงานของ corneal nerve ลดลง ความไวต่อความรู้สึก (corneal sensitivity) ช้าลง การสร้างน้ำตายิ่งลดลง

      นอกจากตาแห้งแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานมีการหายของแผลช้าลง เกิดความผิดปกติของเยื่อบุผิว ซึ่งย่อมทำให้เกิดภาวะน้ำตามี osmolarity สูงขึ้น มีอาการตาแห้งมากขึ้น

      2. กลุ่มอาการ Sjogren ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีตาแห้ง ปากแห้ง กระจกตาและเยื่อบุตาอักเสบ (keratoconjunctivitis sicca) ซึ่งมีอาการแสดงตาแห้งที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค

      3. โรคข้อและโรคในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จากมีความผิดปกติของภูมิคุ้มกันของร่ายกายที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้มีภาวะตาแห้งร่วมด้วยได้บ่อย

      4. กลุ่มอาการภูมิแพ้ Steven Johnson ซึ่งอาจเกิดจากแพ้ยา ติดเชื้อ ภาวะโรคมะเร็ง ตลอดจนไม่ทราบสาเหตุอาการของภาวะนี้ พบได้ทั้งในระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง มีปัญหา ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ ตาแห้ง ภาวะ symblepharon เป็นต้น

      5. โรคต่อม thyroid เป็นพิษ มักมาด้วยอาการทางตา ได้แก่ ตาโปน ตาเปิดกว้างกว่าปกติ หลับตาไม่สนิท ทำให้น้ำตาระเหยออกมาก เกิดภาวะตาแห้งได้

      6. ภาวะขาดวิตามินเอ มักพบในถิ่นทุรกันดาร เด็กขาดอาหาร หรือผู้ป่วยที่การดูดซึมระบบทางเดินหารบกพร่อง ทำให้เกิดความผิดปกติทางตา ได้แก่ เยื่อบุตาแห้ง (xerophthalmia) Bitot’s spots, กระจกตาแห้ง (corneal xerosis) กระจกตาบางลง (keratomalacia) ในบางรายตามด้วยกระจกตาติดเชื้อ ตาทะลุ และมีอาการตาบอดกลางคืน (night blindness)

      7. Graft versus host disease เป็นปัญหาที่เกิดจากการปลูกถ่าย stem cell ในการรักษามะเร็งบางชนิด เป็นภาวะที่ stem cell ของผู้บริจาคมีปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อผู้รับ มีผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งมีอาการตาแห้ง ทั้งในระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง