สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ผู้ที่ควรรับการตรวจตาเป็นพิเศษ

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-42

      

      การมีดวงตา สายตาที่ปกติ ทำให้ประกอบอาชีพทำการงานได้ดี หากตาเป็นโรคหรือสายตาผิดปกติ การตรวจพบยิ่งเร็วยิ่งทำให้มีผลการรักษาที่ดี การตรวจตาเมื่อมีอาการผิดปกติคงทำกันอยู่แล้ว การตรวจตาประจำปีทั้ง ๆที่ไม่มีอาการก็ควรทำกัน สำหรับประชาชนที่ควรต้องรับการตรวจตาแม้จะไม่มีอาการอย่างยิ่ง ได้แก่

      1. เด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อย โดยเฉพาะน้อยกว่า 1,500 กรัม หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ เด็กแฝด (มักตัวเล็กกว่าปกติ) เด็กแรกเกิดตัวเล็กที่มีอาการหายใจติดขัดต้องให้ออกซิเจน เด็กกลุ่มนี้มักเกิดโรค retinopathy prematurity (ROP) ซึ่งต้องรับให้การรักษา

      2. มีประวัติสายตาสั้นมาก (มากกว่า 600) ในครอบครัว โอกาสที่บุตรหลานจะมีสายตาสั้น ซึ่งถ้าได้รับการแก้ไขจะทำให้เด็กมีประสิทธิผลทางการเรียนที่ดี

      3. มีปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน ได้แก่ มีประวัติต้อหินในครอบครัว เคยได้รับอุบติเหตุ หรือรับการผ่าตัดตามาก่อน หรือ เคยพบว่ามีความดันตาสูง

      4. มีโรคเบาหวานไม่ว่าจะคุมได้ดีหรือไม่ ถ้ายิ่งคุมไม่ดีโอกาสเกิดภาวะจอตาเสื่อมจากเบาหวานสูง (diabetic retinopathy=DR) แม้คุมเบาหวานได้ดีก็อาจเกิด DR ได้ อีกทั้งเมื่อมี DR ระยะแรกซึ่งพอจะแก้ไขหรือรักษาได้นั้น ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติอะไร สายตาอาจจะยังปกติ จึงควรตรวจตาทุกปีหรือตามคำแนะนำ

      5. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะจอตาฉีกขาด จอตาหลุดลอก ได้แก่ ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา มีประวัติจอตาลอกในครอบครัว สายตาสั้นมาก มีจอตาบาง จอตาเสื่อม

      6. ผู้มีโรคทางกายที่จำเป็นต้องใช้ยารับประทานรักษาโรคนั้น ๆ เป็นเวลานาน เช่น ยารักษาวัณโรคในกลุ่ม ethambutol อาจทำให้เกิดประสาทตาเสื่อม (optic neuropathy) ซึ่งการรับการตรวจตาจะพบโรคในระยะแรกซึ่งก้ไขได้ทัน ยารักษาโรคข้อและ โรคเนื้อเยื่อกี่ยวพันในกลุ่ม chloroquine อาจทำให้ตามัวลงจากภาวะ chloroquine maculopathy ยาในกลุ่ม steroid ที่รักษาโรคเลือด โรคไต มีผลข้างเคียงทางตาได้เช่นกัน