สาระน่ารู้จากหมอตาตอน โรคที่มากับสายตาสั้น

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-39

      

      

      สายตาสั้นทั่ว ๆ ไป ไม่ถือว่าเป็นโรค แต่เป็นเสมือนหนึ่งสายตาที่แตกต่างกันบ้าง ดังเช่นความสูงต่ำของคนเราที่แตกต่างกันบ้าง ถือเป็น normal variation โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่สายตาสั้นน้อยกว่า 6 diopter ลงมา อาจเรียกว่าตาสั้นปกติ หากสายตาสั้นมากกว่า 6 diopter ถือว่าเป็นสายตาสั้นมาก กลุ่มนี้มักพบโรคจากสายตาสั้นได้มาก อาจเรียกว่าโรคสายตาสั้น (pathologic myopia) อย่างไรก็ตามแม้โรคสายตาสั้นมักพบในคนสายตาสั้นมาก ก็อาจพบในคนสายตาสั้นน้อย ในทางตรงข้าม ผู้ที่มีสายตาสั้นมากก็อาจไม่พบโรคจากสายตาสั้นก็ได้ ความผิดปกติต่าง ๆ ที่พบในโรคสายตาสั้น ได้แก่

      1. ปัญหาที่ส่วนหลังของลูกตา จาก vitreous ไปถึงจอตาและขั้วประสาทตา

      1.1 มีรอยเป็นเสี้ยวที่ขั้วประสาทตา (optic nerve crescent) เห็นเป็นเสี้ยวสีขาวรอบขั้วประสาทตา เกิดเนื่องจากตาขาว (sclera) ยืดออกกว่าปกติ เพราะลูกตายาวกว่าปกติ ทำให้ชั้น choroid และจอตาไม่สุดที่ขอบของขั้วประสาทตา เป็นอาการแสดงอันแรกที่บ่งถึงภาวะโรคสายตาสั้น ลักษณะนี้ผู้ป่วยมักจะยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร

      1.2 เรียกกันว่า myopic cupping เป็นรอยหวำภายในขั้วประสาทตา ซึ่งจะมีลักษณะหวำต่างจากคนปกติ แต่ไปคล้ายกับรอยหวำในผู้ป่วยโรคต้อหิน ทำให้การวินิจฉัยโรคต้อหินในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ยาก

      1.3 ชั้น RPE ของจอตาบางกว่าปกติ ทำให้เวลาตรวจตาจะพบลักษณะที่เรียกว่า tigroid fundus เนื่องจากเห็นหลอดเลือดชั้น choroid ชัดเจนกว่าปกติ ลักษณะนี้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร

      1.4 ลูกตาจะยื่นออกไปด้านหลังมากกว่าปกติ ทำให้ดวงตาไม่เป็นทรงกลม (posterior staphyloma) โดยส่วนที่ยื่นออกไปมีทั้งชั้นตาขาว (sclera), ชั้น choroid และ RPE อาจถือว่าเป็นลักษณะที่สำคัญที่พบในโรคสายตาสั้น (pathognomonic) ทำให้การมองเห็นลดลง การเรียงตัวของเซลล์รับรู้การเห็นผิดไป (เพราะว่าถูกยืดออก) ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่าภาพที่เห็นเล็กลง ภาพบิดเบี้ยว กำลังสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สายตามัวลง บางคนร่วมกับลานสายตาผิดปกติ

      1.5 มีการฝ่อของชั้น choroid และจอตา (chorioretinal atrophy) เป็นหย่อม ๆ ถ้าเกิดขึ้นบริเวณตรงกลาง (macula) ทำให้ตามัวลงค่อนข้างมากได้ ร่วมกับลานสายตาหายไปเป็นหย่อม ๆ

      1.6 อาจมีการฉีกขาดของ bruch membrane ในชั้น choroid ที่เรียกว่า lacquer crack ซึ่งอาจทำให้สายตามัวลง ถ้าเกิดขึ้นใกล้จุด macula อีกทั้งแสดงว่าอาจมีเลือดออกบริเวณนี้ ซึ่งยิ่งทำให้ตามัวลง และมักจะตามมาด้วยการเสื่อมของชั้น choroid และ retina ลามไปกว้างขึ้น หากรอยฉีดขาดมีเลือดออกตามด้วยเยื่อผังผืด ทำให้เห็นเป็นรอยดำ ๆ บริเวณนั้น เรียกกันว่า Fuch spot

      1.7 มีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ใต้ชั้นจอตา (subretinal new vessel) เรียกกันว่า choroidal neovascularization (CNV) การเกิด CNV พบได้บ่อยในภาวะนี้เป็นรองภาวะ AMD เท่านั้น แม้ว่า CNV ในกลุ่มนี้มีพยากรณ์โรคที่ดีกว่าใน AMD เพราะอาจหายเอง และไม่มีการสูญเสียสายตาอย่างถาวร เมื่อเทียบกับ AMD แต่ก็มีบางรายที่ทำให้สายตาเสียอย่างถาวรได้ถ้ามีเลือดออกซ้ำ ๆ

      1.8 การมีลูกตาที่ยาว ก่อให้เกิดการเสื่อมของจอตาบริเวณขอบ ๆ (peripheral retina) เกิดภาวะที่เรียกว่า lattice degeneration, pigmentary degeneration, paving stone degeneration ซึ่งทำให้มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดจอตาหลุดลอกตามมา

      1.9 จอตาหลุดลอก ประมาณกันว่าผู้ที่มีสายตาสั้น 5D ขึ้นไป มีโอกาสเกิดจอตาหลุดลอกมากว่าคนปกติ 15 เท่า และถ้าสั้น 20D ขึ้นไป (พบได้น้อยมาก) มีโอกาสสูงถึง 110 เท่า โรคจอตาหลุดลอกหากรักษาไม่ทันทำให้ตาบอดในที่สุด

      1.10 มีรูขาดที่จอตาบริเวณ macula (macula hole) ทำให้ตามืดบริเวณตรงกลาง และอาจทำให้จอตาหลุดลอกตามมาได้

      1.11 ภาวะน้ำวุ้น vitreous หลุดลอก (posterior vitreous detachment) เรียกกันว่า PVD ภาวะนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ในผู้มีสายตาสั้นจะพบในอายุที่น้อยกว่าคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็นแสงแฟลชตามด้วยเห็นอะไรลอยไปมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอากาสพบรอยฉีกขาดของจอตาได้ 8-15% แต่ถ้ามี PVD แล้วอาจมีเลือดออกในน้ำวุ้นด้วยได้ 13-19% และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้มี PVD ที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นด้วย จะมีจอตาฉีกขาด

      2. ความผิดปกติของส่วนหน้าของลูกตา

      2.1 กระจกตามักจะบางและแบนกว่าปกติ

      2.2 ช่องหน้าตาลึกกว่าคนทั่วไป

      2.3 บริเวณมุมตาอาจพบ anterior iris insertion เห็น iris process ชัดเจน และ ciliary process

      2.4 พบโรคต้อกระจกในอายุเฉลี่ยน้อกว่าคนปกติ

      2.5 มักจะมีการขาดของเส้นโยงยึดแก้วตาได้ง่าย ทำให้แก้วตาเคลื่อนที่ ก่อให้เกิดต้อกระจก ต้อหินตามมาได้

      2.6 พบภาวะตาเขออกนอก (exotropia) มากกว่าคนทั่วไป

      2.7 พบอต้อหินทั้งต้อหินมุมเปิด (primary open angle) ต้อหินชนิด pigmentary glaucoma ตลอดจนต้อหินจากการใช้ยากลุ่ม steroid ได้มากกว่าคนทั่วไป มีการศึกษาพบว่า

      ถ้าความยาวลูกตา (axial length) น้อยกว่า 26.5 มม พบต้อหินได้ 1-3%

      ถ้าความยาวลูกตา (axial length) 26.5 – 33.5 มม พบต้อหินได้ 11%

      ถ้าความยาวลูกตา (axial length) มากกว่า 33.5 มม พบต้อหินได้ 28%

      3. ภาวะสายตาสั้นที่มักมีโรคที่กล่าวข้างต้น อาจพบร่วมกับโรคทางกายหลาย ๆ อย่าง อาทิเช่น ภาวะคนเผือก โรคหัดเยอรมัน โรค Down syndrome, Marfan, Fetal alcohol, Pierre Robin และอื่น ๆ

      อย่างไรก็ตาม โดยสรุป ผู้มีสายตาสั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคข้างต้นมักมีอาการดังนี้

      1. สายตาที่แก้ไขสายตาสั้นแล้วยังเห็นน้อยกว่าคนปกติ

      2. ความสามารถในการใช้ตา 2 ข้างร่วมกันลดลง (suboptical binocular function)

      3. อาจมีลานสายตาผิดปกติจากภาวะ chorioretinal atrophy

      4. การเห็นภาพกลางคืนลดลง (dark adopt) ไม่ดี

      5. ภาพที่เห็นขนาดเล็กกว่าปกติ

      6. อาจมีภาวะตาขี้เกียจจาก anisometropic amblyopia

      7. ตามัวลงค่อนข้างรวดเร็ว หากมีโรคต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอาจถึงตาบอดได้