สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน Implantable miniature telescope lens (IMT)

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-30

      

      ความก้าวหน้าทางจักษุวิทยา ในการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติจากการหักเหของแสงในตาที่ผิดปกติ (refractive error) ซึ่งแต่เดิมแก้ไขด้วยเลนส์ชนิดต่าง ๆ บนแว่นสายตา ในรูปของแว่นตาที่ประกอบด้วยกรอบหน้าแว่นเพื่อวางเลนส์แก้ไขสายตา มีก้านหรือขาแว่นเกี่ยวข้างหู อาจจะเป็นสายตาสั้น (ใช้เลนส์เว้า) สายตายาว (ใช้เลนส์นูน) สายตาเอียง (ใช้เลนส์ทรงกระบอก) ตลอดจนสายตาผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถใช้เลนส์แว่นตามองใกล้อย่างเดียว หรือเลนส์สองชั้นมองได้ทั้งใกล้และไกล และเลนส์หลายชิ้น (progressive lens) มองได้ชัดทุกระยะ

      ความคิดที่จะนำเลนส์ต่าง ๆ วางในกรอบแว่นตาแล้วสวมเข้ากับตาเปลี่ยนมาเป็นฝังเข้าไปในตาที่เรียก intraocular lens เนื่องมาจากเลนส์แว่นตาที่จำเป็นต้องใช้แก้ไขภาวะสายตายาว หลังผ่าตัดต้อกระจกจำเป็นต้องใช้เลนส์ที่มีกำลังสูง ตัวเลนส์หนา น้ำหนักมาก อีกทั้งภาพที่เห็นขยายใหญ่กว่าจริง ทำให้ผู้ป่วยต้องปรับตัวกับเลนส์อยู่นาน จึงมีการเปลี่ยนแปลงทำเป็นเลนส์ฝังในลูกตาที่เรียก intraocular lens (IOL) ในเวลาต่อมา และมาระยะหลัง เป็น premium IOL ซึ่งแก้ไขสายตาเอียง ทำเป็น IOL ที่มองชัดทุกระยะที่เรียก multi focal IOL

      ความคิดที่อยากจะนำเลนส์บนแว่นตามาฝังในตามีขึ้นในเวลาต่อมา อีกอย่างที่เรียก implantable collamer lens (ICL) ซึ่งใช้กันในคนที่สายตาสั้นมาก ไม่เหมาะที่จะแก้ไขโดยวิธีเลสิค จึงใช้วิธีฝังเลนส์ซ้อนกับแก้วตาที่มีอยู่เดิม

      เร็ว ๆ นี้มีความคิดที่จะฝังเลนส์อีกชนิดหนึ่งเป็น telescopic lens ซึ่งปกติอยู่ในรูปของกล้องส่องทางไกล ภายในประกอบด้วยเลนส์ 2 อัน วางห่างกันในระยะที่เหมาะสมเพื่อจะดึงภาพที่อยู่ไกลมาใกล้ รวมทั้งมีกำลังขยายเพิ่มขึ้น เรียกกันว่า implantable miniature telescope lens (IMT) ใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคจอตาส่วนกลางเสื่อม (age related macular degeneration= AMD) ภาวะนี้มีจอตาบริเวณ macula เสื่อม ทำให้ผู้ป่วยมองภาพตรงกลางไม่ชัด สำหรับกรณีที่ไม่มีวิธีแก้ไขแล้ว จอตาบริเวณ macular เสียไปแล้ว ในปัจจุบันใช้เครื่องช่วยสายตา (visual aid) โดยใช้ telescope ซึ่งทำเป็นกล้องมองไกล มีผู้พยายามผลิต telescope ด้วย PMMA ขนาดประมาณ 4.4 มม ประกอบด้วยเลนส์เว้ารูป biconcave (กำลัง-) และ lens นูน (biconvex) (กำลัง+) เชื่อมติดกัน โดยฝังส่วนกำลัง(- )ไว้ใน capsular bag และส่วนกำลัง(+) ไว้ใน anterior chamber เลนส์อันนี้ขยายบริเวณตรงกลาง 20-24° ไปได้ 3 เท่า มีกำลังขยายภาพ 1.3 เท่า สามารถจัดให้ focus ห่างออกไปจาก fovea (ซึ่งเป็นโรค) ออกไปด้านข้างเพื่อใช้จอตาด้านข้างแทน นับว่าเป็นนวัตกรรมพยายามฝังเลนส์พิเศษนี้ช่วยผู้ป่วย แต่ยังอยู่ในระยะทดลอง ผู้ป่วยที่ใส่เลนส์นี้ต้องปรับตัวนานกว่า IOL ที่ทำกันในทุกวันนี้

      กล่าวโดยสรุป เลนส์เทียมที่ฝังในตาผู้ป่วยที่ทำกันบ่อยคือ intraocular lens (IOL) ใช้ในผู้ป่วยต้อกระจก รองลงมาคือ implantable collarmer lens (ICL) ใช้ในผู้ป่วยสายตาสั้นมากที่ยังอยู่ในทดลองในขณะนี้คือ implantable miniature telescope lens สำหรับผู้ป่วยโรค AMD ซึ่งยังต้องรอเวลาอีกระยะกว่าจะมีใช้จริง