สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การใช้ Yag Laser ในน้ำวุ้นเสื่อม

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-29

      

      หลาย ๆ ท่านที่มีปัญหาน้ำวุ้นตาเสื่อม ทำให้เห็นอะไรลอยไปมา ส่วนมากยังมีสายตาใช้ได้เพียงเห็นขยะหรือจุดดำลอยไปมา แม้จะเห็นเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะเวลาพลบค่ำ เวลามองพื้นขาว เจ้าจุดดำนี้จะลอยมารบกวนทันที แต่หากเพิกเฉยไม่สนใจก็อาจคล้ายอาการจะหายไป และบางครั้งกลับมาเห็นได้อีก

      น้ำวุ้นตา (vitreous) เป็นสารมีลักษณะเป็นวุ้นอยู่ภายในลูกตา เป็นเจลคล้ายไข่ขาว น้ำวุ้นประกอบด้วยน้ำถึง 80% และ protein ชนิด collagen กรด hyaluronic รวมกันเป็นเจล ส่วนหน้าชิดติดกับส่วนหลังของแก้วตา แล้วแนบกับจอตาจากบริเวณขอบ (periphery) มายังด้านหลังสุดที่ขั้วประสาทตา (optic disc)

      เมื่อคนเราอายุมากขึ้น มีการเสื่อมของเจลจาก hyaluronic ลดลง ตัว collagen แยกจากน้ำเป็นตะกอนรูปร่างต่าง ๆ เป็นจุด เป็นเส้น เป็นรูปร่างคล้ายหยากไย่ ทำให้เจ้าตัวเห็นจุดเหล่านั้นลอยไปมา อีกภาวะหนึ่งคือ ฐานของน้ำวุ้นบริเวณขั้วประสาทตาเคยติดแน่น เกิดหลุดออกจากขั้วประสาทตา เรียกกันว่า posterior vitreous detachment = PVD ซึ่งกล่าวกันว่า พบได้ถึง 65% ในผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ภาวะ PVD นี้เองที่ทำให้เจ้าตัวเห็นอะไรลอยไปลอยมา มีเงาอะไรมาบังเป็นบางครั้ง ซึ่งภาวะนี้มีการทดลองใช้ Yag Laser ยิงให้แตกสลายเพื่อลดอาการเห็นอะไรลอยไปมา จากการทดลองของหมอตากลุ่มหนึ่ง ในผู้ป่วย 52 ราย เมื่อปี 2015-2016 ตีพิมพ์ใน JAMA ophthalmology 2017 โดยนำผู้ที่เป็น PVD ที่มีอาการมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งรักษาด้วย Yag Laser อีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม พบว่ากลุ่มที่ใช้ Yag มีอาการดีขึ้น 54% กลุ่มควบคุม 9% (แสดงว่ามีอาการดีขึ้นได้เองจำนวนหนึ่ง) ทั้ง 2 กลุ่มไม่มีผลแทรกซ้อนอะไรตามมา อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่ศึกษามีน้อยไป การติดตามผลแทรกซ้อนระยะยาวซึ่งอาจเกิดตามหลังรักษาด้วย Yag เช่น เกิดจอตาขาด จอตาหลุดลอก ต้อกระจก ต้อหิน ผลเสียต่อจอตาต่าง ๆ เป็นต้น การรักษาน้ำวุ้นเสื่อมจากบทความนี้จึงยังไม่ควรนำมาใช้ รอให้ผลออกมานานกว่านี้ เนื่องจากมีข้อยุ่งยากหลายอย่าง อาทิ เช่น

1. เครื่อง Yag Laser ต้องเป็นชนิดพิเศษกว่าเครื่อง Yag ที่เรามีใช้ในปัจจุบัน การซื้อเครื่อง Yag มาเพื่อการนี้อย่างเดียวดูจะไม่คุ้มการลงทุน อีกทั้งยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

2. ที่ศึกษานำมาทดลองในผู้ป่วยภาวะ PVD เท่านั้น น้ำวุ้นเสื่อมแบบอื่นยังใช้ไม่ได้

3. การยิง เลเซอร์ คงต้องมีความแม่นยำมาก คลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยอาจก่อความเสียหายที่รุนแรง

4. บางรายอาการผู้ป่วยดีขึ้นเองได้โดยไม่ต้องรักษา

5. เท่าที่รายงานมา จำนวนผู้ป่วยยังน้อย และติดตามดูผลข้างเคียงยัไงม่นานพอ