สาระน่ารู้จากหมอตาตอน การหยุดหายใจเวลาหลับกับโรคตา(Obstructive sleep apnea and eye)

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-24

การนอนกรนของคนเรามี 2 ประเภท

1. นอนกรนธรรมดา จะมีเสียงกรนเวลาหลับเป็นพักๆ โดยไม่มีการหยุดหายใจ จึงไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่อาจรบกวนต่อคู่นอนเท่านั้น

2. นอนกรนร่วมกับหยุดหายใจ (obstructive sleep apnea = OSA) นอกจากมีเสียงรบกวนคนรอบข้างแล้ว ยังทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนเป็นระยะๆ เป็นเหตุให้คล้ายนอนไม่พอ เกิดอาการง่วงในเวลากลางวัน มีปัญหาในการขับรถ บั่นทอนการเรียนหรือการทำงาน อีกทั้งมีอัตราเสี่ยงต่อโรคขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนความดันโลหิตสูงได้

ลักษณะต่างๆ ที่คนรอบข้างสังเกตว่าน่าจะเป็นการนอนกรนร่วมกับหยุดหายใจ ได้แก่

  • มีอาการหายใจขัดคล้ายหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ คล้ายคนสำลักน้ำ
  • มีอาการสะดุ้งตื่นเป็นพักๆ
  • คนรอบข้างสังเกตว่ามีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจไม่สม่ำเสมอ ขณะนอนหลับ
  • ง่วงนอนในเวลากลางวัน ประสิทธิผลของการเรียนหรืองานลดลง มีอาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า

ผลจากภาวะ OSA ต่อร่างกายมีหลายระบบ ทางตาก็พบได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยที่กล่าวถึง 5 สภาวะ ดังนี้

1. Floppy eye lid เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยจะมีตุ่มเล็กๆ (papilla) ที่เยื่อบุตา ร่วมกับเปลือกตาบนหนาแข็ง เป็นข้างเดียว และข้างที่ผู้ป่วยมักจะนอนทับข้างนั้น โดยพบได้ 2 – 5% ของผู้ป่วย OSA ในทางตรงข้ามผู้ป่วยที่มีเปลือกตาลักษณะนี้ มักมีการหายใจติดขัดเวลานอนถึง 90%

ภาวะนี้มักพบในผู้ชาย อ้วน อาจจะร่วมกับเป็นเบาหวาน หนังตาบน บวมหนา แข็ง พลิกกลับได้ง่าย โดผู้ป่วยจะมาด้วยอาการระคายเคืองในตา มีน้ำตาปนเมือกออกมา อาการมากตอนตื่นนอน มีความผิดปกติที่ tarsus หนังตาบน ตัว tarsus ปกติคล้ายกระดูกอ่อนนั้น มี elastic fibre ลดลง ทำให้ tarsus atrophy มีขนาดเล็กลง พลิกง่าย เวลาผู้ป่วยนอนเอาหน้าและตาข้างนั้นลง ตัว tarsus ยืดหยุ่นแบะออกไปกดเยื่อบุตา ก่อให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง บางรายมาด้วยมี filament keratitis การระคายเคือง ขยี้ตามากอาจก่อให้เกิด keratoconus ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาได้

2. ต้อหิน มีรายงานว่าผู้ป่วย OSA จะเป็นต้อหินมากกว่าคนปกติ 4 เท่า ภาวะ OSA เนื่องจากมีการขาดออกซิเจนเป็นระยะๆ เป็นผลให้การมี autoregulation ของหลอดเลือดที่มาเลี้ยง optic nerve ลดลง ทำให้ optic nerve ขาดเลือดมาเลี้ยง จึงมีความผิดปกติของสายตา ลานสายตา คล้ายต้อหิน ซึ่งเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับความดันตา เพราะมีการศึกษาว่า ผู้ป่วย OSA เวลาหลับสนิทช่วงที่จะมีความดันตาสูงเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ส่วนมากความดันตาจะลดลงมากกว่า บางการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย OSA ตรวจพบต้อหินได้ 5.1 – 27% แต่บางการศึกษาพบว่าไม่มีต้อหินเลยก็มี ในทางกลับกัน หากนำผู้ป่วยโรคต้อหินมาตรวจ พบว่ามี OSA ถึง 20 – 55 % โดยเฉพาะผู้ป่วยต้อหินที่ความดันตาปกติ (normal tension glaucoma)

3. ขั้วประสาทตาบวม (papilledema) เป็นภาวะที่มีความดันของน้ำในสมองสูง (intracranial pressure) โดยไม่ได้พบโรคของสมอง กลไกการเกิดภาวะนี้ในผู้ป่วย OSA มีการขาดออกซิเจน ทำให้เพิ่ม venous pressure การไหลกลับของเลือดดำลดลง ทำให้เพิ่มความดันในสมองหรืออาจเป็นเพราะ ผู้ป่วย OSA มี carbon dioxide ค้างอยู่มาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ hypercapnea เกิดภาวะ cerebral venous dilatation เป็นผลทำให้มีความดันในสมองสูง นำไปสู่ papilledema ในที่สุด โดยผู้ป่วยอาจมาพบหมอด้วยอาการของ pseudotumor cerebre ด้วยอาการหูอื้อ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว นอกจากการพบ papilledema ผู้ป่วยบางรายพบมีชั้น retinal nerve fibre layer บางลงกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ไม่พบต้อหิน เข้าใจว่าเป็นผลจากการขาดออกซิเจน ทำให้เกิด optic neuropathy และนำมาซึ่งมีลานสายตาผิดปกติแบบต่างๆ หลายแบบ ไม่เจาะจง

4. NATION (nonarteritie ischemic optic neuropathy) เป็นภาวะที่ประสาทตาขาดเลือดจากระบบการไหลเวียนผิดปกติ (ไม่ได้มีการอักเสบของหลอดเลือด) พบภาวะนี้ในผู้ป่วย OSA มากกว่าคนปกติ 2.5 เท่า เชื่อว่าจากมีความผิดปกติของระบบการปรับตัวของหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงประสาทตา (autoregulation of capillaries and small blood vessel) กล่าวคือ ระหว่างนอนหลับและหยุดหายใจ ทำให้ความดันโลหิตลดลง แต่หลอดเลือดที่มาเลี้ยงตาปรับตัวไม่ได้ ทำให้รับเลือดได้ไม่พอ โดยมักจะเป็นข้างเดียว มีอาการตามัวอย่างฉับพลัน มักจะเป็นตอนตื่นนอน

5. หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน (Retinal vein occlusion) พบโรคนี้ในผู้ป่วย OSA ได้มากกว่าคนทั่วไป

2 เท่า เป็นผลมาจากการปรับตัวไม่ได้ของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทตา นอกจากนี้ผู้ป่วย OSA อาจพบความผิดปกติในจอตาอื่นๆ เช่น พบภาวะ central serous retinopathy (CSR) ได้มากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งมีรายงานพบผู้ป่วย เป็น CSR ทั้ง 2 ตา รักษาไม่ยอมหาย เมื่อให้การรักษา OSA ด้วย continuous positive airway pressure (CPAP) อาการของ CSR หายภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ ผู้ป่วย OSA อาจตรวจพบจอตาผิดปกติลักษณะแบบขาดเลือด โดยอาจพบจุดเลือดออก (microaneurysm and haemorrhage) หลอดเลือดดำจอตาโป่งพอง ขนาดไม่สม่ำเสมอ อาจมี cotton wool spot ซึ่งบ่งถึงมีการขาดเลือดและการตายของจอตาเป็นหย่อมๆ

อนึ่ง ผู้ป่วยที่มีเบาหวานอยู่แล้ว หากมี OSA จะพบการทำลายจอตา (diabetic retinopathy) ได้เร็วกวผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีภาวะ OSA