สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน แสงสีฟ้ากับ melatonin

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-20

ปี 2560 นี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ nobel prize สาขาการแพทย์ (physiology and medicine) ระบุถึงตัว gene และสารเคมีในเซลล์ ร่วมกับควบคุมกลไกของนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) พูดถึงสาร melatonin

มีผู้ศึกษากันต่อถึงแสงสีฟ้ากับ melatonin แสงที่มีความยาวคลื่นยาวจะมีพลังงานต่ำ ส่วนแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นจะมีพลังงานสูง ดังนั้นแสงสีฟ้าซึ่งมีความยาวคลื่นสั้น (380-500 nm) จึงมีพลังสูง แสงกระจัดกระจาย (scatter) มาก ทำให้ตาคนเราโฟกัสยาก แสงสีฟ้ามาจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก ปัจจุบันมีการใช้เครื่องไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดฟลูออเรสเซ้น, หลอด LED, จอแบน, จอคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องเล่นมือถือ ล้วนมีแสงสีฟ้าออกมา ทำให้เราสัมผัสหรือถูกแสงสีฟ้ามากขึ้น

ในภาวะปกติ คนเรามีนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) กลางวันจะตื่นกระปรี้กระเป่าในการทำงาน ขณะที่กลางคืนจะง่วงต้องการพักผ่อน มีผู้สังเกตว่าผู้ที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว เวลาเย็นจนค่ำมักจะเกิดการไม่ง่วง นอนไม่หลับตามมา จึงคิดว่าน่าจะเป็นแสงสีฟ้าไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร melatonin ลดลง ด้วยยุคปัจจุบันที่ต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีผู้ทดลองพบว่า หากสัมผัสแสงสีฟ้าหรือเล่นอุปกรณ์ดังกล่าวเวลากลางคืน 1 ชั่วโมง สาร melatonin จะลดลง 23% ถ้า 2 ชั่วโมง ลดลง 38% ถ้า 5 ชั่วโมง ลดลง 55% อีกทั้งจะเกิดภาวะหิว น้ำหนักเพิ่มขึ้น ระดับ insulin ลดลง ในสัตว์ทดลองตัวอ่อนที่ให้ถูกแสงสีฟ้าตอนกลางคืนมากขึ้น จะพบเซลล์สมองลดลง

มีการทดลองอีกอันหนึ่งในนักศึกษาอาสาสมัครสัปดาห์แรกให้ใส่แว่นกันแสงสีฟ้า ตั้งแต่หัวค่ำก่อนนอน 3 ชั่วโมง หนึ่งสัปดาห์วัดปริมาณ melatonin ในน้ำลายได้ 9.6 pg/ml อีกหนึ่งสัปดาห์งดใส่แว่นกันแสงสีฟ้าเป็ฯเวลาหนึ่งสัปดาห์ วัดปริมาณ melatonin เหลือ 4.9 pg/ml ลดลงอย่างชัดเจน พบว่าช่วงใช้แว่นกันแสงสีฟ้า ใช้วเลานอนหลับ 10-20 นาที ในขณะที่วันที่ไม่ใส่แว่นกันแสงสีฟ้าใช้เวลา 30 นาที ถึงจะนอนหลับ อีกทั้งมีการตื่นในระหว่างนอนน้อยกว่า ตลอดจนมีภาวะทางอารมณ์ที่ดีกว่าในคนสวมแว่นกันแสงสีฟ้า แม้ค่าเหล่านี้จะแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ระดับ melatonin ต่างกันอย่างชัดเจน ผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้สวมแว่นกันแสงสีฟ้าก่อนนอน 3 ชั่วโมง ในผู้ที่ต้องทำงานหน้าจอในเวลากลางคืน อีกทั้งคงต้องติดตามระยะยาวพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าแสงสีฟ้าให้โทษได้มากน้อยแค่ไหนอีกต่อไป