สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน Thyroid orbitopathy (ความผิดปกติทางตาจากโรคต่อมไทรอยด์)

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-19

ความผิดปกติทางตาจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษนี้ มีชื่อเรียกต่างๆว่า thyroid - associated orbitopathy (TAO), Grave ophthalmopathy, Thyrotoxic exophthalmos พบในผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษบางราย พบความผิดปกติทางตาก่อนอาการทางกายได้ถึงร้อยละ 20 ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 6 เท่า

ความผิดปกติทางตาจากโรค thyroid ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นภาวะแพ้ภูมิตนเอง (autoimmune) เชื่อว่าเป็นเพราะ thyroid stimulating hormone receptor (TSH-R) ซึ่งพบได้ในต่อม thyroid และเบ้าตา มี orbital fibroblast เป็นเซลล์เป้าหมาย มีการสร้าง hyaluronan และ glycosaminoglycan บริเวณเบ้าตา รวมทั้ง fibroblast ในเบ้าตา เพิ่มไขมันในเบ้าตาขึ้น ทำให้ตาโปนออกมา มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีตาโปนจากโรคไทรอยด์ร้อยละ 90 มีไทรอยด์ฮอร์โมนสูง ร้อยละ 6 มีระดับปกติ แม้ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำกว่าปกติก็ยังพบได้ร้อยละ 1 พบ และพบ hashimoto thyroiditis ร้อยละ 3 ดังนั้น แม้สงสัยว่าเป็นตาโปนจากไทยรอยด์ แค่ค่าฮอร์โมนปกติ ควรต้องติดตามผู้ป่วยอย่างน้อยมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจมีค่าผิดปกติตามมา

ความผิดปกติทางตาที่พบได้ในภาวะ TAO ได้แก่

  1. หนังตาร่น (lid retraction) กล่าวคือคนปกติ ถ้าตามองตรงมาข้างหน้า หนังตาบนจะคลุมตาดำลงมาจากขอบบนสุดของตาดำ ประมาณ 1 มม. ทำให้ไม่เห็นตาขาวส่วนบน ผู้ป่วยภาวะนี้จะพบว่าหนังตาบนร่นขึ้นไป อาจไม่คุลมลงมา ทำให้เห็นขอบตาดำและตาขาวส่วนบน การทีมีหนังตาร่นทำให้และดูคล้ายผู้ป่วยเบิ่งตาตลอดเวลา
  2. ตาโปน ส่วนมากมักเป็นตาทั้ง 2 ข้าง แต่ก็พอพบได้ที่เป็นตาเดียว
  3. ภาวะ lid lag ในภาวะปกติ ถ้าเหลือบตาลงล่าง หนังตาบนจะเคลื่อนตามลงล่างด้วย ผู้ป่วยภาวะนี้ หนังตาบนเคลื่อนลงช้าตามไม่ทัน เมื่อตาลงมาอยู่ข้างล่าง จะยิ่งเห็นตาขาวส่วนบนมากขึ้น เพราะหนังตาบนตามลงไม่ทัน
  4. หนังตามักจะบวม สีคล้ำลง
  5. กระพริบตาน้อยลง ทำให้มีอาการแสบตา เคืองตา
  6. กล้ามเนื้อกลอกตา (extraocular muscle) มีขนาดโตขึ้นจากที่มีเม็ดเลือดขาว lymphocyte ตลอดจนเซลล์ไขมมันเข้าไปแทรกอยู่มาก ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวหรือมีข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว เสมือนมีอัมพาตของกล้ามเนื้อกลอกตาบางมัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็น 2 ภาพ (diplopia) กล้ามเนื้อที่เป็นบ่อยลดหลั่นกันลงมาได้แก่ มัด inferior rectus (IR), superior rectus (SR) ตามด้วย medial rectus (MR)
  7. เกิดภาวะ compressive optic neuropathy (CON) เนื่องจากเนื้อเยื่อในเบ้าตาบวมมากจึงไปกดประสาทตา ทำให้สายตามัวลง

การรักษา

  1. ควบคุมระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. งดสูบบุหรี่ เพราะมีรายงานภาวะนี้ในคนสูบบุหรี่ ทำให้มีอาการมากกว่าคนทั่วไป ตลอดจนควบคุมโรคทางกายอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น เบาหวาน ความดัน
  3. พิจารณาอาการทางตาที่สมควรแก้ไข เรียงตามลำดับความสำคัญ

3.1 มีอาการรุนแรง รบกวนการมองเห็นจากการกดเส้นประสาทตา (CON) จำเป็นต้องให้ยาในกลุ่ม steroid ทางหลอดเลือด ตลอดจนพิจารณาการผ่าตัด (orbit decompression) ถ้ายาไม่ได้ผล หรือพิจารณาใช้รังสีรักษา

3.2 ความรุนแรงปานกลาง คือการเห็นภาพซ้อน มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา อาจพิจารณาให้ยาในกลุ่ม steroid และ/หรือ รังสีรักษา

3.3 ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น แสบตา เคืองตา เนื่องจากตาโปน อาจใช้น้ำตาเทียมลดอาการระคายเคือง

3.4 การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดอื่น ๆ เฃ่น แก้ไขการเห็นภาพซ้อน ผ่าตัดลดภาวะตาหลับไม่สนิทหรือตาที่เปิดกว้างมากเกินไป มักจะพิจารณาในภายหลัง ฯลฯ

อนึ่ง เร็วๆนี้ มีรายงานใน Medscape Ophthalmology ฉบับ พฤศจิกายน 2560 กล่าวถึงการแก้ไขภาวะ TAO เพิ่มขึ้นมา บางวิธี มีรายงานได้ผลดีระดับหนึ่ง บางวิธี เพิ่งทดลองใช้ในจำนวนผู้ป่วยยังไม่มากพอ ได้แก่

  1. การใช้ยาใน Selenium ในผู้ป่วยที่เป็น TAO ที่อาการยังไม่รุนแรง พบว่าอาจจำกัด TAO ไม่ให้รุนแรงขึ้น ตลอดจนระงับการกลับมีอาการใหม่ หลังจากหายดีไปแล้วระยะหนึ่ง (recurrent)
  2. มีการทดลองฉีดสาร Botox โดยผ่านทางเยื่อบุตาเพื่อลดอาการเปลือกตาร่น
  3. มีการใช้ Methotrexate แทน หรือเสริมในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ steroid แต่มีข้อห้ามในการใช้ steroid ในผู้ป่วยนั้น
  4. มีการทดลองใช้สาร mycophenolate ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม immune modulator เพื่อลดภาวะ proliferation of lymphocyte ลดภาวะตาโปนลง
  5. มีการทดลองใช้ยา biological agent ต่าง ๆ เช่น rituximab, teprotumumab, tocilizumab เพื่อลดภาวะตาโปนได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องใช้เวลาศึกษาในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ พอที่จะสรุปถึงควรใช้หรือมีประโยชน์อย่างไรต่อไปในภายภาคหน้า