สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน โรคเบาหวานมีผลต่อแก้วตาอย่างไร

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-14

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนปกติ จากสภาพพยาธิที่เกิดขึ้นในจอตาที่เรียกกันว่า diabetic retinopathy ซึ่งหากไม่รับการรักษา หรือมารักษาในเวลาที่สายเกินไปอาจทำให้ตาบอด แต่ผลจากเบาหวานต่อแก้วตาแม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่าที่เกิดในจอตา แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยตามัวลงได้ ความผิดปกติที่เกิดในแก้วตาในผู้ป่วยเบาหวานมีดังนี้

1. แก้วตาในผู้ป่วยเบาหวานยืดหยุ่นได้ไม่ดี การยืดหยุ่นของแก้วตาเป็นสิ่งจำเป็นในการมองใกล้ เมื่อเรามองวัตถุใกล้ แก้วตาต้องป่องออกเพื่อเพิ่มกำลังโฟกัส แต่หากแก้วตายืดหยุ่นได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะสายตาผู้สูงอาย (presbyope) คือมองใกล้ไม่ชัด ซึ่งคนทั่วไปมักเกิดขึ้นในตอนอายุ 40 ปี ขึ้นไป แต่ผู้ป่วยเบาหวานในอายุที่น้อยกว่า

2. เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้น้ำ aqueous humor มีน้ำตาลสูงขึ้นด้วย น้ำตาลใน aqueous จะกระจายเข้าสู่แก้วตา ทำให้น้ำตาลในแก้วตาสูงขึ้น น้ำตาลในแก้วตาถูกย่อยด้วย enzyme aldose reductase กลายเป็นสาร sorbitol ซึ่งอยู่ในแก้วตา ทำให้แก้วตาขุ่นมัว เกิดภาวะต้อกระจกในอายุที่น้อยกว่าคนปกติ จึงพบต้อกระจกในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเร็วกว่าคนทั่วไป อีกทั้งต้อกระจกจะลุกลามเร็วกว่าต้อกระจกในผู้สูงอายุปกติ เป็นได้ในผู้ป่วยทั้ง 2 type คือทั้งที่เป็นในเด็กและเป็นในผู้ใหญ่ มีลักษณะเฉพาะที่เรียกกันว่า snowflake cataract เป็นในตา 2 ข้างอย่างฉับพลัน เป็นจุดสีเทาอมขาวอยู่ชั้นใต้ capsule บริเวณ cortox อาจพบเป็นช่อง ๆ (vacuole) บริเวณ capsule ในทางคลินิก ผู้ป่วยมักมาพบเราเมื่อต้อกระจกที่ใกล้จะสุก ทำให้ตามัวลงแล้ว ผู้ป่วยที่อายุไม่มากมีต้อกระจกใกล้สุก 2 ข้าง ควรจะสงสัยว่าผู้ป่วยนั้นมีเบาหวาน เพราะมีบ้างที่พบต้อกระจกโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน

3. เมื่อแก้วตามีน้ำตาลสูง เกิดแรงดัน osmotic ทำให้ดึงน้ำเข้ามาในแก้วตามากขึ้น ทำให้ lens fibre บวมน้ำ มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีการหักเหของแสง ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นกะทันหัน (acute myopic shift) ส่วนน้อยที่กลายเป็นสายตายาว การเปลี่ยนแปลงของสายตากะทันหันจึงอาจพบในผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลสูงมาก จึงยังไม่สมควรเปลี่ยนแว่นสายตา แต่ให้คุมเบาหวานให้ดีสายตาจะกลับมาเหมือนเดิมได้