สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน เป็นเบาหวาน ทำผ่าตัดต้อกระจกไม่ได้จริงหรือ

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-12

ดังที่ทราบกันดีว่า ต้อกระจก เป็นโรคพบในคนสูงอายุจากการเสื่อมของแก้วตาเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในผู้ป่วยเบาหวานจะพบต้อกระจกในอายุที่น้อยกว่าคนทั่วไป คงเนื่องจากน้ำตาลในส่วนต่าง ๆ ของร่ายกายที่มากขึ้น การรักษาโรคต้อกระจกในผู้ป่วยเบาหวานคงเหมือนกับผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคต้อกระจกทั่วไป แต่มีข้อคิดและข้อที่ควรและระวังมากกว่าดังนี้

1. หลายๆคนคิดว่าโรคเบาหวานผ่าตัดต้อไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่ผิด ทำผ่าตัดได้ แต่ควรทำในขณะที่ควบคุมเบาหวานได้ดีอันจะนำมาซึ่งผลการผ่าตัดที่ดี

2. ก่อนผ่าตัดควรตรวจจอตาอย่างละเอียด ผู้ป่วยเริ่มมีภาวะเบาหวานทำลายจอตาหรือยัง เพื่อจะได้บอกพยากรณ์โรคแก่ผู้ป่วยได้ถูกต้อง เช่น หากมีภาวะเบาหวานทำลายจอตาส่วนกลาง (macula) แล้ว การมองเห็นหลังผ่าตัดต่ออาจดีขึ้นไม่มาก

3. หากสามารถรักษาภาวะจอตาถูกทำลายจากเบาหวาน เช่น การรักษาภาวะจอตาบวม (diabetic macular edema) ด้วยการฉีดยา anti VGF ตลอดจนการทำเลเซอร์ (panphotocoagulation) ได้ ควรทำก่อนการผ่าตัด เพราะมีหลายรายงานบ่งไว้ว่า หลังลอกต้อ ภาวะจอตาถูกทำลายจากเบาหวานอาจกำเริบขึ้น หลังผ่าตัดจึงควรรีบตรวจจอตาซ้ำในเวลาที่ทำได้ หากพบความผิดปกติจะได้รีบรักษา

4. ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของม่านตา ทำให้ม่านตาไม่ค่อยขยาย ทำให้ยุ่งยากในการผ่าตัด (ระหว่างผ่าตัดม่านตาต้องขยาย ซึ่งแพทย์จะใช้ยาหยอดขยายม่านตา การผ่าตัดถึงจะทำได้ง่ายและรวดเร็ว ปกติจากผลแทรกซ้อน) แพทย์ควรจะวางแผนในการขยายม่านตาไว้ด้วย

5. สารสีที่อยู่ในม่านตา (iris pigment) มักจะหลุดได้ง่าย ทำให้หลังผ่าตัดมีการอักเสบมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งแพทย์ควรต้องระมัดระวังในการผ่าตัดมากขึ้น

6. ผู้ป่วยเบาหวานความรู้สึกของกระจกตามักจะลดลง (Corneal hypoesthesia) อีกทั้งผิวถลอกได้ง่าย จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

7. มีการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ง่ายกว่าคนปกติ ควรมีมาตรการป้องกันที่ดีพอ

8. รักษาความสะอาด หยอดยา ดูแลแผลผ่าตัดอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์

9. มารับการตรวจตานัดหมายทุกครั้ง

10. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เจ็บตา ตามัว ควรพบแพทย์ทันที