สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน บางอย่างเกี่ยวกับโรคต้อหิน

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-10

แม้ความดันตา จะไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก ในการวินิจฉัยโรคต้อหิน ทั้งผู้ป่วยต้อหินที่มีความดันตาสูง และที่มีความดันตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้สายตามัวมากขึ้น ที่จับต้องได้ คือ การลดความดันตา ซึ่งอาจทำโดยใช้ ยา แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด เนื่องจากต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง “alternative medicine (การแพทย์ทางเลือก)” จึงอาจเข้ามามีบทบาท อีกทั้งมีปัญหาและข้อสงสัยว่ามีอะไรที่ควรหรือไม่ควรทำที่อาจมีผลต่อโรคต้อหิน หรือทำให้ความดันตาสูงขึ้น ได้แก่

  1. กัญชา สารเคมีในกัญชาที่สำคัญ คือ tetrahydrocannabinol (THC) มีฤทธิ์ลดความดันตา แต่ตัวยามีผลต่อจิตและร่างกายทั่วไปมาก แม้ว่าจะมีความพยายามทำเป็นรูปยาหยอดตา เพื่อป้องกันอาการทางจิต ทางสมอง ก็ไม่ได้ผลเพราะยาดูดซึมเข้าในตาไม่ดี อีกทั้งกัญชามีฤทธิ์สั้นประมาณ 3 – 4 ชม. เท่านั้น จึงไม่สะดวกในการใช้ มีการทำในรูปสูดดมก็ได้ผลไม่ดี กัญชาจึงเลิกใช้กันไป
  2. วิตามินซีในขนาดสูงๆ พบว่าลดความดันตาพอได้แต่ฤทธิ์อยู่ไม่นาน
  3. วิตามิน เกลือแร่ ที่เป็นสูตรของการป้องกันโรคจอตาส่วนกลางเสื่อม (AREDS) เคยมีผู้คิดว่าอาจได้ประโยชน์สำหรับผู้ป่วยต้อหิน โดยคิดว่าน่าจะปกป้องประสาทตาได้ ก็พบว่าไม่ได้ผลเลย
  4. การฝังเข็ม ที่การทดลองพบว่าไม่ได้ผลต่อโรคต้อหินเลย
  5. ยังมีสมุนไพรอีกหลายตัว เช่น กิงโกะ (Ginkgo biloba) , bilberry ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลดีต่อต้อหินในแง่ปกป้องประสาทตา ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ที่เห็นชัด รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าได้ผลเช่นกัน
  6. การออกกำลังกาย มีการศึกษาพบว่า ทำให้ความดันตาลดลงได้ 1 – 5 มม.ปรอท พอหยุดออกกำลังกาย ความดันตาจะกลับมาเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายมีผลดีต่อร่างกายทั่วไป จึงควรจะทำอยู่แล้ว แม้จะไม่ค่อยมีผลต่อโรคต้อหิน
  7. การทำ valsalva (วิธีเพิ่มความดันบริเวณหลังช่องปากและโพรงจมูก เพื่อเปิดท่อ Eustachian ที่เชื่อมไปยังหูชั้นกลาง) จะเพิ่มแรงดันของหลอดเลือดดำในช่องอก (intrathoracic venous pressure) ซึ่งจะทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้ในระดับต่างๆกัน ในแต่ละบุคคล ตลอดจนเล่นดนตรีแบบเป่าต่างๆ ที่ทำประจำก็ทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้นได้ แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ผู้ป่วยต้อหินควรงดกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ มีความจำเป็นแค่ไหน คงต้องขึ้นกับความรุนแรงของต้อหินว่าเป็นมากแค่ไหนด้วย
  8. การหยุดหายใจเวลาหลับ ในบางครั้งของผู้ป่วยที่นอนกรน (obstructive sleep apnea) ซึ่งระยะหลังมีคนศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิด ภาวะ normal tension glaucoma ได้มากกว่าคนปกติ
  9. การบีบตาแรงๆ หรือกดลูกตา เช่น การชอบนอนคว่ำหน้ากดลงบนหมอน ทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน
  10. การเล่นโยคะ ได้มีการศึกษาท่าต่างๆของการเล่นโยคะ โดยเฉพาะท่ายืนด้วยศรีษะ ท่าศรีษะต่ำต่างๆ ล้วนทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้น จึงควรระวังในผู้ป่วยต้อหินไว้ด้วย