เรื่องน่ารู้จากหมอตา ตอนที่ 1 ความดันตา - ความหนากระจกตา

เรื่องน่ารู้จากหมอตา

ลูกตาคนเรามีรูปเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 24 มม. ภายในมีอวัยวะช่วยให้เกิดการมองเห็น เช่น ม่านตา แก้วตา น้ำวุ้นตา จอประสาทตา เป็นต้น ลูกตาทรงเป็นรูปอยู่ได้เพราะภายในมีความดันอยู่จำนวนหนึ่ง ในคนปกติจะมีความดัน 10 – 20 มม.ปรอท และเป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าความดันตาสูงจะทำลายเส้นประสาทตา นำไปสู่โรคต้อหิน แล้วเครื่องมือที่วัดความดันตามีความแม่นยำ หรือมีโอกาสคลาดเคลื่อนหรือไม่ ในความเป็นจริง หมอไม่ได้วินิจฉัยโรคต้อหินจากความดันตาอย่างเดียว ต้องอาศัยการตรวจขั้วประสาทตาร่วมกับตรวจลานสายตาด้วย อย่างไรก็ตาม การวัดความดันตาเป็นด่านแรกและเข้าใจง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป อีกทั้งการรักษาโรคต้อหินโดยการดูแลลดลงของความดันตา เข้าใจง่ายกว่า ตรวจง่ายกว่าที่จะอธิบายถึงลานสายตาหรือขั้วประสาทตา ตลอดจนจำนวนเส้นประสาทตาที่ไม่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายมีลานสายตา ตลอดจนขั้วประสาทตา และจำนวนเส้นประสาทตาลดลง เข้าได้กับโรคต้อหิน แต่วัดความดันตาแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ไม่เกิน 20 มม.ปรอท ที่เรียกกันว่า เป็นภาวะต้อหินที่มีความดันตาปกติหรือค่อนข้างต่ำ (normal tension หรือ low tension glaucoma) ซึ่งรายงานพบได้มากในชาวญี่ปุ่น ในกลุ่มนี้แม้ความดันตาไม่สูง การรักษาก็ยังคงให้ยาลดความดันตาให้ลดลงจากเดิมที่เป็นอยู่

เมื่อมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากขึ้นมีผู้สังเกต สงสัยว่าความดันตาที่วัดได้จากเครื่องมือวัดความดันตาที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดกัน คือ applanation tonometer นั้น มีความแม่นยำแค่ไหน โดยหลักการหากจะวัดความดันตาให้แม่นยำ คงต้องใช้เครื่องมือเจาะเข้าลูกตาต่อเข้ากับเครื่องวัด ซึ่งทำอันตรายต่อดวงตามาก จึงไม่ทำกัน แต่ได้คิดค้นเครื่องมือใช้วางบนตาแทน โดยไม่ต้องเจาะเข้าลูกตา มีการคำนวณว่าเครื่องมือต้องแตะผิวตาดำขนาดเท่าไรถึงจะวัดค่าได้ถูกต้อง อันเป็นที่มาของเครื่องวัดในปัจจุบัน เมื่อใช้เครื่องมือนี้มานานเข้าพบว่าเครื่องมือที่วัดนี้จะถูกต้องแม่นยำ คือ เน้นค่าความดันตาที่แท้จริงนั้น กระจกตาต้องมีความหนา 520 – 525 ไมครอน ถ้ากระจกตาหนาหรือบางเกินกว่านี้ ค่าที่ได้จะคลาดเคลื่อน หากหนามากขึ้นค่าที่ได้จะสูงเกินจริง หรือถ้ากระจกตาบางกว่าค่าข้างต้น ค่าที่วัดได้จะน้อยกว่าความเป็นจริง ในทางปฏิบัติแพทย์ผู้ชำนาญเรื่องต้อหิน นอกจากวัดความดันตาแล้ว มักจะวัดความหนาของกระจกตาด้วย และยังไม่มีสูตรที่แม่นยำว่าความหนาผิดไปเท่าไร ค่าความดันตาจะผิดไปเท่าไร ส่วนมากจึงเพียงคิดไว้ว่า หากความดันตาสูงกว่าคนปกติบ้าง แต่มีกระจกตาหนามากอาจไม่เป็นไร แต่ถ้าความดันตาสูง กระจกตายังบาง ถึงเข้าใจว่าความดันตาที่จริงคงต้องสูงกว่าค่าที่วัดได้

มีแพทย์บางท่านศึกษาและรายงานไว้ว่าความดันตาจะผิดไป 7 มม.ปรอทต่อ 100 ไมครอนที่ต่างจาก 520 ไมครอน ของความหนากระจกตา บางท่านรายงานไว้ว่าทุกความหนาของกระจกตาที่ต่างจาก 525 ไมครอน ไป 40 ไมครอน ความดันตาจะผิดไป 1 – 3 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่ตกลงหรือศึกษาได้ข้อยุติของตัวเลขนี้ เพียงเตือนให้ทราบว่าความดันตาที่วัดได้อาจไม่ใช่ความดันตาที่แท้จริง ถ้าวัดได้ค่าความดันตาสูงแต่กระจกตาหนาทำให้สบายใจกว่ากระจกตาบาง