เรื่องจริงของยกทรง ? (ตอนที่ 3)

ในแต่ละปี ผู้บริโภคทั่วโลกเสียเงินในการซื้อยกทรงประมาณ USD 16,000 ล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2555 ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกามียกทรงเฉลี่ยคนละ 9 ตัว โดยมีตัวที่ใส่ประจำอยู่ 6 ตัว และจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 75- 95 ของผู้หญิงตะวันตกจะใส่ยกทรง

เป็นการยากสำหรับผู้หญิงที่จะหายกทรงให้พอดีกับตัวเอง เพราะจากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 25 ของผู้หญิงมีขนาดเต้านม 2 ข้างที่ไม่เท่ากัน

การเลือกใส่ยกทรงที่เหมาะกับตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสรีระร่างกายด้วย เช่น ตอนกำลังเติบโต ตอนน้ำหนักเพิ่มหรือลด ตอนมีลูกและหลังคลอดลูก และตอนที่อายุมากขึ้น ดังนั้นจึงควรเลือกขนาดและแบบที่ใส่สบาย

ยกทรงที่ไม่พอดีจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ อาจทำให้ปวดไหล่ คอ และหลังตึง เช่นเดียวกับความรู้สึกไม่สบายเพราะมีก้อนเนื้อนูนออกมาใต้ท้องแขน ดังนั้นก่อนซื้อจึงควรทำการลองใส่ดูก่อน

สิ่งที่ควรตรวจดูก่อนการซื้อได้แก่

  • สายคล้องไหล่ (Shoulder straps) ควรพอดีกับตัวและอยู่ติดกับหน้าอกขณะที่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
  • ขนาดของเต้าหรือคัพ (Cups) ตอนใส่ควรมีเนื้อเต็มพอดี ไม่มีเต้านมส่วนไหนนูนออกไปทางด้านข้างหรือด้านบน และควรจะกว้างพอที่จะปิดเต้านมได้ทั้งหมด
  • โครง (Wires) ควรเรียบติดกับกระดูกหน้าอกและช่วยเสริมเต้านมโดยไม่ทิ่มหรือมีช่องว่าง
  • สายหน้าและหลัง (Front and back bands) ควรอยู่แนบกับตัวและอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหน้าและหลัง

ส่วนการวัดขนาดของยกทรงสามารถทำได้ดังนี้

  • ใช้สายวัดรอบใต้อก โดยสายวัดต้องราบเรียบไปกับผิวหนังและโครงกระดูก ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป
  • จดขนาดที่วัดได้แล้วบวกเพิ่มไปอีก 5 นิ้ว นี่คือ ขนาดของรอบอก
  • การวัดขนาดของเต้านมทำได้โดย ใช้สายวัดรอบอกตรงจุดที่หน้าอกเต็มที่สุด
  • จดขนาดของเต้านมไว้แล้วลบด้วยขนาดของรอบอก ความแตกต่างของตัวเลขจะเป็นตัวกำหนดขนาดของเต้านมหรือคัพ กล่าวคือ ถ้าตัวเลข 2 ตัว
    • แตกต่างกันน้อยกว่า 1 นิ้ว จะเป็นคัพ AA
    • ถ้าต่างกัน 1 นิ้วจะเป็นคัพ A
    • ถ้าต่างกัน 2 นิ้วจะเป็นคัพ B
    • และถ้าต่างกัน 3 นิ้วจะเป็นคัพ C

      ยกตัวอย่างเช่น วัดขนาดของเต้าได้ 33 นิ้ว และวัดขนาดของรอบอกได้ 32 นิ้ว ลบกันออกมาเหลือ 1 นิ้ว แปลว่า ควรใส่ขนาด 32A

  • แต่ถ้าผลการคำนวณขนาดออกมาเป็นเลขคี่ เช่น 31 นิ้ว หรือ 33 นิ้ว เราควรจะปัดลงมากกว่า เพราะยกทรงสามารถปรับให้หลวมได้และส่วนใหญ่เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ก็มักจะยืดออกเอง

แหล่งข้อมูล:

  1. Brassiere. http://en.wikipedia.org/wiki/Brassiere [2013, November 19].
  2. The right bra for you. http://www.breastcancercare.org.uk/breast-cancer-information/breast-awareness/being-breast-aware/right-bra-you [2013, November 19].
  3. A New Stage in Life. http://kidshealth.org/kid/grow/girlstuff/breasts_bras.html [2013, November 19].