เรื่องของเกล็ดเลือด (ตอนที่ 2)

เรื่องของเกล็ดเลือด

ภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis) มี 2 ชนิด คือ

  • ชนิดปฐมภูมิ (Primary or essential thrombocytosis) เกิดจากไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดมากผิดปกติโดยไม่มีเหตุกระตุ้น ถือเป็นโรคไขกระดูกเจริญผิดปกติอย่างหนึ่ง
  • ชนิดทุติยภูมิ (Secondary thrombocytosis) เป็นการตอบสนองต่อภาวะที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดมากขึ้น หรือมีสาเหตุจากโรคที่เป็นอยู่ เช่น ภาวะโลหิตจาง (Anemia) โรคมะเร็ง การอักเสบ หรือการติดเชื้อ

ภาวะเกล็ดเลือดสูงอาจทำให้เกิดลิ่มเลือด (Blood clots) ที่แขนและขาได้ กรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack) และเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างเฉียบพลัน (Stroke) ได้

ภาวะเกล็ดเลือดสูงอาจมีสาเหตุมาจาก

  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งที่ปอด ทางเดินอาหาร รังไข่ เต้านม และต่อมน้ำเหลือง
  • มีการอักเสบ เช่น โรคกลุ่มอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease = IBD) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  • โรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค (Tuberculosis)
  • มีการผ่าตัดเอาม้ามออก
  • มีการกินยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen)

นอกจากนี้คนที่อยู่ในที่สูง (High altitudes) คนที่ออกกำลังกายหนัก (Strenuous exercise) ก็มีโอกาสมีภาวะเกล็ดเลือดสูงได้

ส่วนภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) นั้น สามารถทำให้เกิดจ้ำเขียวได้ง่าย มีอาการเลือดไหลไม่หยุดทั้งจากเหงือก จมูก หรือทางเดินอาหาร (GI tract) โดยสาเหตุของการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจมาจาก

  • มีการใช้ยาบางชนิด เช่น ยา Acetaminophen ยา Quinidine ยา Sulfa ยา Digoxin ยา Vancomycin ยา Valium และยา Nitroglycerine
  • กรรมพันธุ์
  • เป็นโรคเลือดออกง่าย (Idiopathic thrombocytopenia = ITP)
  • เป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) โรคตับอักเสบ (Hepatitis) โรคติดเชื้อเฮชไอวี (HIV) โรคหัด (Measles)
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis)
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) หรือโรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปที่ไขกระดูก
  • เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disorders) เช่น โรคลูปัส (Lupus)
  • การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ในการรักษาโรคมะเร็ง
  • การติดเชื้อที่ไตหรือไตทำงานผิดปกติ
  • ดี่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือเป็นโรคตับแข็ง (Cirrhosis)

แหล่งข้อมูล

  1. What are Platelets and Why are They Important?. http://www.hopkinsmedicine.org/heart_vascular_institute/clinical_services/centers_excellence/womens_cardiovascular_health_center/patient_information/health_topics/platelets.html [2014, December 30].
  2. Platelet Count. http://labtestsonline.org/understanding/analytes/platelet/tab/test/ [2014, December 30].