เรื่องของเกล็ดเลือด (ตอนที่ 1)

เรื่องของเกล็ดเลือด

นายวีรวัฒน์ วงศ์ว่องไว ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการ DONOR CLUB KALASIN HOSPITAL 2014 ซึ่งธนาคารเลือดโรงพยาบาลกาฬสินธุ์จัดขึ้น เพื่อให้ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับไปประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้บริจาคเกล็ดโลหิตเก็บสำรองเข้าธนาคารเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

ในงานนี้ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันงานธนาคารเลือดโรงพยาบาลกาฬสินธุ์มีความต้องการใช้เกล็ดโลหิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมสำรองไว้ช่วยเหลือผู้ป่วย

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ช่วยทำให้โลหิตแข็งตัวเป็นลิ่ม อุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิตเวลาถูกของมีคมบาด และเพื่อป้องกันภาวะโลหิตออกเนื่องจากสาเหตุต่างๆ และใช้ในการรักษาโลหิตออกเนื่องจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

นพ.ประมวล กล่าวด้วยว่า เมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมาธนาคารเลือดได้เปิดรับบริจาคเกล็ดโลหิตแบบ Single Donor Platelets ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริจาคเกล็ดเลือด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย จึงได้จัดโครงการ DONOR CLUB KALASIN HOSPITAL 2014 ขึ้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริจาคโลหิต สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้บริจาค อีกทั้งยังมีการตั้งชมรมผู้บริจาคเกล็ดโลหิตขึ้นมาเพื่อเป็นเครือข่ายความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น

เกล็ดเลือด (Platelet) คือส่วนประกอบของเลือดที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการหยุดเลือดและการแข็งตัวของเลือด สร้างจาก Megakaryocytes

ทั้งนี้ เมื่อมีความผิดปกติในการทำงานของเกล็ดเลือด จะส่งผลให้เกิดโรค/ภาวะผิดปกติได้ เช่น ภาวะเลือดออกง่าย ที่เกิดจากการมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ (ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ) หรือ การเกิดลิ่มเลือดกรณีมีปริมาณเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ เช่น ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เป็นต้น

เกล็ดเลือดเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดของเซลล์เม็ดเลือด มีขนาดเล็กมาก สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น (Microscope) ในเลือดของคนปกติจะมีเกล็ดเลือดอยู่ที่ 150,000 - 450,000 เกล็ดเลือดต่อเลือด 1 ไมโครลิตร (Microliter) เกล็ดเลือดมีอายุ 9-12 วัน หมุนเวียนในกระแสเลือด หลังจากนั้นจะถูกเซลล์ที่ทำหน้าที่กลืนกินทำลายในม้าม

หากปริมาณเกล็ดเลือดมีมากกว่า 450,000 เรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis) แต่ถ้าปริมาณเกล็ดเลือดมีน้อยกว่า 150,000 เรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)

แหล่งข้อมูล

  1. รพ.กาฬสินธุ์สร้างเครือข่ายรับบริจาคเกล็ดเลือด http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000143673&Keyword=%e2%c3%a4 [2014, December 29].
  2. What are Platelets and Why are They Important?. http://www.hopkinsmedicine.org/heart_vascular_institute/clinical_services/centers_excellence/womens_cardiovascular_health_center/patient_information/health_topics/platelets.html [2014, December 29].