เรื่องของถุงยางชาย (ตอนที่ 2)

เรื่องของถุงยางชาย-2

      

      ถุงยางอนามัยชาย (Male condom) มีลักษณะบาง ใช้สวมใส่ที่อวัยวะเพศชาย เพื่อป้องกันตัวเองและคู่สัมพันธ์จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections = STIs) เช่น โรคหนองใน (Gonorrhea) การติดเชื้อแคลมีเดีย (Chlamydia) การติดเชื้อเฮชไอวี (HIV) และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์

      ถุงยางอนามัยส่วนใหญ่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (Latex) แต่ก็มีบางส่วนที่ทำจากพอลิยูรีเทน (Polyurethane) พอลิไอโซพรีน (Polyisoprene) หรือ หนังลูกแกะ (Lambskin)

      ถุงยางอนามัยชายใช้ง่าย ราคาไม่แพง และหาซื้อได้ง่าย มีทั้งที่มีส่วนผสมของสารหล่อลื่นหรือไม่มีสารหล่อลื่น และมีหลากหลายขนาด รูปร่าง และสีสัน ทั้งยังมีส่วนผสมเพื่อเพิ่มความรู้สึกให้มากขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงเหมือนที่พบในการใช้คุมกำเนิดของผู้หญิง (Female contraception) เช่น ยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device = IUD)

      โดยทั่วไปการใช้ถุงยางอนามัยชายจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีร้อยละ 2 ที่ผู้หญิงอาจตั้งครรภ์ได้แม้จะมีการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี มีบางอย่างที่ต้องระวัง กล่าวคือ

  • ถุงยางอนามัยอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยางธรรมชาติ (Latex allergy) ซึ่งจะมีผื่นแดง เป็นลมพิษ (Hives) น้ำมูกไหล (Runny nose) และในกรณีที่ร้ายแรงอาจทำให้ทางเดินหายใจอุดตัน ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ ดังนั้น ถ้ามีการแพ้ยางธรรมชาติ ให้หลีกเลี่ยงไปใช้พอลิยูเรเทนหรือหนังลูกแกะแทน
  • ถุงยางอนามัยไม่ได้ป้องกันได้หมด เพราะยังมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์ได้กรณีที่ถุงยางอนามัยมีการแตกระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์

      ความพอดีของขนาดถุงยางอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรัดเกินไปก็มักจะแตกได้ง่าย แต่หากหลวมเกินไปก็อาจหลุด ผู้ชายบางคนอาจพบว่าถุงยางอนามัยทำให้ความรู้สึกลดลงหรือไม่สบายที่จะสวม

      ถุงยางอนามัยบางชนิดจะเคลือบด้วยสาร Nonoxynol-9 ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้ทำเป็นยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดี ไม่แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยที่เคลือบด้วยยาฆ่าอสุจิ เพราะ

  • ถุงยางอนามัยที่เคลือบด้วยยาฆ่าอสุจิไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าในเรื่องของการป้องกันการตั้งครรภ์
  • สาร Nonoxynol-9 อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและทำลายเซลล์ที่อยู่ในช่องคลอด (Vagina) หรือทวารหนัก (Rectum) ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ยาฆ่าอสุจิไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเฮชไอวี เชื้อเอดส์ หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ยาฆ่าอสุจิมีราคาแพงและมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าถุงยางอนามัยอื่น

      สำหรับสาเหตุที่ถุงยางอนามัยเลื่อนหลุดหรือแตก เช่น

  • ใส่ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง
  • ฉีกขาดเพราะโดนเล็บหรือเครื่องประดับเกี่ยว
  • ไม่มีความชุ่มชื้นพอระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • ยางขาดความยืดหยุ่นเพราะเก็บในที่อุ่น เช่น กระเป๋ากางเกง
  • ใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุ
  • อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาเชื้อรา เช่น ยา Clotrimazole ที่มีผลทำลายยางธรรมชาติ

แหล่งข้อมูล:

  1. Male condoms. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/condoms/about/pac-20385063 [2018, November 18].
  2. Condoms. http://www.familyplanning.org.nz/advice/contraception/condoms [2018, November 18].
  3. Condoms. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/male-condoms/ [2018, November 18].