เรื่องของคนขี้แพ้ (ตอนที่ 4)

เรื่องของคนขี้แพ้

การทดสอบถึงสาเหตุของภูมิแพ้สามารถทำได้โดย

  • วิธีสะกิด (Skin Prick Test) เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในการทดสอบ เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาลงบนผิวหนังที่แขนและใช้เข็มสะกิดลงบนปลายหยด น้ำยา ซึ่งทำได้ง่าย เร็ว ไม่เจ็บ ใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้ทั่วร่างกายน้อย
  • การตรวจเลือด (Blood tests) เพื่อวิเคราะห์สารภูมิต้านทานที่สร้างโดยระบบภูมิต้านทานเพื่อตอบสนองต่ออาการแพ้
  • การติดแผ่นปะ (Patch tests) เพื่อใช้ทดสอบชนิดของผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact dermatitis) ที่เป็นสาเหตุของการแพ้ โดยการติดสารที่สงสัยว่าจะทำให้แพ้ลงบนผิวหนังเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และรอดูปฏิกริยา ทั้งนี้
    • ระหว่างระยะเวลาที่ทำการทดสอบ ควรระวังไม่ให้ผิวหนังเปียกน้ำหรือได้รับความชื้น โดยปกติมักปิดแผ่นพลาสเตอร์ที่บริเวณแผ่นหลัง แต่กรณีทดสอบสารเพียงไม่กี่ชนิดอาจปิดที่บริเวณแขน
    • ขณะทำการทดสอบ ควรงดกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น การเล่นกีฬา
    • ขณะทำการทดสอบ อาจมีอาการคันหรือระคายเคืองบ้างเล็กน้อยบริเวณที่ทำการทดสอบ ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่เป็นสาเหตุทำปฏิกิริยาให้เกิดผื่นแพ้เล็กๆ บริเวณที่ทำการทดสอบ
    • งดทำการทดสอบการติดแผ่นปะในสตรีมีครรภ์
    • กรณีผู้ที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ควรงดยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนการทดสอบ เพราะสเตียรอยด์มีผลกดภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้
  • วิธีตัดออก (Elimination diet ) ใช้กับกรณีการแพ้อาหาร กล่าวคือ คัดเลือกอาหารที่สงสัยว่าจะแพ้ออกทีละชนิด แล้วสังเกตดูอาการ
  • การทดสอบกระตุ้นให้ปรากฏ (Challenge testing) เป็นการทดสอบที่เสี่ยงกว่าวิธีอื่นๆ เช่น กรณีทดสอบการแพ้อาหาร จะมีการให้กินอาหารที่คิดว่าแพ้ทีละน้อย เพื่อดูปฏิกริยาแพ้อย่างใกล้ชิด เป็นการทดสอบที่ได้ผล แต่ต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะหากเกิดการแพ้อย่างรุนแรงจะได้ทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
  • ชุดทดสอบการแพ้ (Allergy testing kits) ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะไม่ค่อยได้มาตราฐาน และการอ่านผลควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้

สำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้แพ้ โดยทั่วไปคือ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ กรณีที่มีอาการภูมิแพ้ที่รุนแรงมาก อาจต้องอาศัยการรักษาที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy / desensitisation) ซึ่งเป็นการรักษาด้วยการฉีดยาเพื่อช่วยปรับภูมิคุ้มกัน ด้วยการฉีดสารที่ทำให้เกิดการแพ้ของคนไข้เข้าไปในร่างกายทีละน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ลดความรุนแรงของอาการแพ้น้อยลง

แหล่งข้อมูล

1. Allergies. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/allergies/basics/definition/con-20034030 [2016, July 5].

2. Allergies. http://www.nhs.uk/conditions/Allergies/Pages/Introduction.aspx [2016, July 5].