เริมริมฝีปาก (Herpes Labialis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคเริมริมฝีปาก (Herpes Labialis หรือ Cold sore หรือ Fever blister) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ Herpes simplex virus type 1 (ย่อว่า HSV1) เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบเกิดที่ ริมฝีปาก ช่องปาก และเหงือก เป็นโรคไม่หายขาดและสามารถติดต่อได้แม้เมื่อไม่มีรอยโรคให้เห็น ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อตรวจเลือดประชากรอายุ 30 ปี (โดยทั่วไปพบการติดเชื้อได้ในทุกเพศทุกอายุแต่มักพบในช่วงวัยหนุ่มสาวอายุประมาณ 20 ปี) ทั้งชายและหญิง เพื่อดูการติดเชื้อนี้ พบว่า 50 - 80% ของกลุ่มตัวอย่างเคยผ่านการติดเชื้อนี้มาแล้ว

เริมริมฝีปากเกิดได้อย่างไร?

เริมริมฝีปาก

การติดเชื้อไวรัส HSV1 เกิดอาการครั้งแรกจากการสัมผัสรอยโรคหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไว รัสนี้ อาจเกิดจากกิจกรรมทางเพศสัมพันธุ์หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสจากการใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 - 20 วัน (ทั่วไปประมาณ 3 - 7 วัน) จะเริ่มมีตุ่มเกิดขึ้นที่ริมฝีปากส่วนไหนก็ได้จากการที่เชื้อไวรัสก่อเกิดโรคที่เซลล์ผิวหนังของริมฝีปาก จากนั้นเชื้อไวรัสจะเข้าไปฝังตัวถาวรอยู่ในระบบประสาทบริเวณที่ติดเชื้อ เมื่อร่างกายอ่อนแอ (ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง) เชื้อไวรัสนี้จะสามารถเจริญเติบโตทวีจำ นวนจนก่อให้เกิดโรคได้ใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือบริเวณใกล้เคียงตำแหน่งโรคเดิม ดังนั้นโรคนี้จึงเป็นโรคไม่หายขาด

เริมริมฝีปากติดต่ออย่างไร?

เริมริมฝีปากเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัส โดยติดต่อจากการสัมผัสรอยโรคและ/หรือสารคัดหลั่งจากรอยโรค ทั้งจากรอยโรคของตนเองและ/หรือจากผู้อื่นที่ติดเชื้อไวรัสนี้เช่น จากสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ มีดโกนขน หรือมีดโกนหนวด

เริมริมฝีปากมีอาการอย่างไร?

หลังได้รับเชื้อไวรัส 3 - 7 วันโดยประมาณ (พบได้ในช่วง 2 - 20 วัน) จะเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ อาจมีไข้ จากนั้นจะมีผื่นแดง/ตุ่มแดงเกิดขึ้นบริเวณที่มีการติดเชื้อ มีอาการ แสบ คัน เจ็บ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำขึ้นที่บริเวณผื่นแดง/ตุ่มแดงหรือกลายเป็นตุ่มหนอง แล้วแตกออกเป็นแผล ต่อมาแผลจะแห้งเป็นสะเก็ดลอกหลุดไปเหลือเป็นผิวหนังบวมแดงและค่อยๆหายไปเองในที่สุด โดยอาการรวมทั้งหมดกินเวลาประมาณ 5 - 15 วัน

อาการของเริมริมฝีปากจะเป็นรุนแรงที่สุดในการติดเชื้อครั้งแรก การกลับเป็นซ้ำครั้งต่อๆไป จะไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อครั้งแรก

แพทย์วินิจฉัยเริมริมฝีปากได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยเริมริมฝีปากได้จากประวัติอาการในปัจจุบัน ประวัติการเกิดอาการในอดีต และการตรวจดูรอยโรคด้วยตา ซึ่งมักให้การวินิจฉัยโรคได้ดี แต่ถ้าแพทย์ยังสงสัยอาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยการนำเซลล์ผิวหนังบริเวณรอยโรคไปตรวจด้วยวิธีเฉพาะที่เรียกว่า Tzanck smear ซึ่งมีความไว (Sensitivity, การสามารถตรวจพบความผิดปกติ) ในการตรวจประมาณ 80%

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีผื่นหรือตุ่มน้ำที่บริเวณริมฝีปากสามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อปรึกษารับคำวินิจฉัยและการรักษาได้

รักษาเริมริมฝีปากอย่างไร?

โดยทั่วไปการรักษาเริมริมฝีปากคือ การรับประทานยาฆ่าเชื้อไวรัส Acyclovir ขนาด 200 mg. (มก., มิลลิกรัม) วันละ 5 ครั้งประมาณ 5 วัน ซึ่งยาจะไม่ช่วยให้โรคหายขาด แต่จะช่วยให้โรคหายไวขึ้น การใช้ยานี้ชนิดทา รอยโรคหายช้ากว่ายารับประทาน

อนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ถึงแม้ไม่มีการใช้ยา/ไม่มีการรักษา ร่างกายจะสร้างภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้เอง ซึ่งส่งผลให้โรคนี้หายได้เองภายใน 5 - 15 วัน

เริมริมฝีปากก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคเริมริมฝีปากคือ อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่รอยโรคตามมาได้ถ้าไปแกะเกาบริเวณผื่นเริม

เริมริมฝีปากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

เริมริมฝีปากมีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคสามารถหายได้เองภายใน 5 - 15 วันโดยไม่มีการเกิดแผลเป็นถ้าไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน แต่ก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้ใหม่ ไม่หายขาด เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลงเช่น นอนไม่พอ พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคอาจรุนแรงขึ้นถ้าเกิดโรคที่ตา อาจเกิดกระจกตาเป็นแผลที่อาจรุนแรงจนตาบอดได้ หรือโรคอาจลุกลามรุนแรงไปยังผิวหนังส่วนต่างๆทั่วตัวในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

สำหรับผู้ที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก ควรระมัดระวังไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยเบื้องต้น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการสัมผัสรอยโรคเช่น การจูบ นอก จากนั้นเช่น

  • ควรทำความสะอาดริมฝีปากด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน
  • สัมผัสรอยโรคแต่เพียงเบาๆเมื่อทำความสะอาด
  • ไม่ทาลิปสติกจนกว่าแผล/รอยโรคจะหาย
  • ถ้าเจ็บแผลมากให้ประคบเย็นที่แผลด้วยน้ำแข็งเป็นครั้งคราว อาจร่วมกับกินยาแก้ปวด Para cetamol
  • ไม่ควรทารอยโรคด้วยครีมให้ความชุ่มชื้นริมฝีปาก (Lip balm) แต่ใช้กับริมฝีปากส่วนที่ปกติได้
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรกินอาหารรสจัด อาหารร้อนหรือดื่มเครื่องดื่มร้อน จนกว่ารอยโรคจะหาย

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษาโดยแพทย์หรือหลังการดูแลตนเอง หากรอยโรคมีการลุกลาม เจ็บแผลมากขึ้น แผลขยายใหญ่ขึ้น แนวโน้มแผลไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือถ้ามีนัดอยู่แล้วก็ควรไปก่อนนัด

ป้องกันเริมริมฝีปากอย่างไร?

ป้องกันเริมริมฝีปากได้โดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน
  • เลี่ยงการสัมผัสบริเวณรอยโรคของผู้ป่วย
  • ล้างมือบ่อยๆ

บรรณานุกรม

  1. 1. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
  2. อภิชาติ ศิวยาธร . โรคผิวหนังต้องรู้สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 5 .สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  3. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
  4. http://www.tacoma.washington.edu/studentaffairs/SHW/documents/Health%20topics/Herpes%20Labialis.pdf [2015,April18]
  5. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000606.htm[2015,April18]