เรวิพาริน (Reviparin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเรวิพาริน (Reviparin หรือ Reviparin Sodium หรือ Reviparin Na) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดประเภทเฮพารินโมเลกุลเล็ก(Low molecular weight heparin ย่อว่า LMWH) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก เช่น ไม่จำเป็นต้องทดสอบการแข็งตัวของเลือดผู้ป่วยก่อนได้รับยานี้ และยังก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยต่อภาวะเลือดออกง่าย ทางคลินิกจึงนำมาใช้เป็นยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำขณะทำการผ่าตัด รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเรวิพารินเป็นแบบยาฉีด หลังการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังไปแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง จะทำให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากที่สุดและร่างกายก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเช่นเดียวกันเพื่อการกำจัดยาชนิดนี้/ยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางกลุ่มจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาเรวิพาริน และเป็นเหตุผลให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยาเรวิพารินกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้ เช่น ผู้ที่มีระดับเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ/ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง/โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ/ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ ผู้ป่วยโรคไต หรือโรคตับในระยะโรคที่รุนแรง ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับการใส่ลิ้นหัวใจ (Prosthetic heart valves) ตลอดจนกระทั่งผู้ป่วยที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำ ทุกครั้งเมื่อใช้ยาในกลุ่มเฮพารินก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ยาเรวิพารินด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การใช้ยาเรวิพารินกับ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต สตรีในภาวะให้นมบุตรและเด็ก จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถได้รับผลข้างเคียงของยาเรวิพารินมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ

ในวงการแพทย์จัดให้ยาเรวิพารินเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

เรวิพารินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เรวิพาริน

ยาเรวิพารินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำขณะทำการผ่าตัด
  • รักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด(Thromboembolic disorders)

เรวิพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเรวิพาริน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นสารชีวะโมเลกุลในหลอดเลือดที่คอยต่อต้านกระบวนการรวมตัวของเกล็ดเลือดที่มีชื่อเรียกว่า แอนตี้ทรอมบิน ทรี (Antithrombin III) สารชีวโมเลกุลนี้จะเข้ายับยั้งการทำงานของทรอมบิน (Thrombin) และแฟคเตอร์ เทนเอ (Factor Xa)ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการรวมตัวของเกล็ดเลือด และจากกระบวนการเหล่านี้จึงเกิดกลไกป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้ตามสรรพคุณ

เรวิพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเรวิพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดที่บรรจุตัวยา Reviparin sodium ขนาด

  • 1,432 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต(Antifactor Xa international unit ย่อว่า IU) x 0.25 มิลลิลิตร และ
  • 3,436 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต x 0.60 มิลลิลิตร

เรวิพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเรวิพารินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่มีความเสี่ยงเกิดระดับปานกลางขณะผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: แพทย์จะฉีดยาเรวิพารินเข้าใต้ผิวหนังก่อนเข้ารับการผ่าตัด 2 ชั่วโมง ขนาด 1,750 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต จากนั้น แพทย์อาจให้ยาอีกวันละ1ครั้งจนกระทั่งผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติ

ข. ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่มีความเสี่ยงเกิดระดับสูงขณะผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเรวิพารินเข้าใต้ผิวหนังก่อนเข้ารับการผ่าตัด 12 ชั่วโมง ขนาด 4,200 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต จากนั้นแพทย์อาจให้ยาอีกวันละ1ครั้งจนกระทั่งผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติ

ค. สำหรับรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด:

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 35–45 กิโลกรัม: ฉีดยาใต้ผิวหนัง 3,500 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิตวันละ 2 ครั้ง
  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 46–60 กิโลกรัม: ฉีดยาใต้ผิวหนัง 4,200 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต วันละ 2 ครั้ง
  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม: ฉีดยาใต้ผิวหนัง 6,300 แอนตี้แฟคเตอร์ เทนเอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต วันละ 2 ครั้ง

ทั้งนี้:

  • แพทย์อาจให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานร่วมด้วย
  • ทั่วไป การใช้ยาเรวิพารินรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะใช้เวลาเวลาประมาณ 5–7 วัน

*อนึ่ง: เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กในทุกกรณี แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเรวิพาริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ โดยเฉพาะยาแอสไพรินหรือ ยาต้านเกล็ดเลือด เพราะยาเหล่านั้นอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเรวิพารินกับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เรวิพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเรวิพารินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามเยื่อเมือกของร่างกาย ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดตามร่างกาย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง มีภาวะเลือดออกง่าย

*อนึ่ง การได้รับยาเรวิพารินเกินขนาด จะส่งผลให้เกิดเลือดออกง่ายตามร่างกาย ที่แพทย์จะรักษาอาการดังกล่าวโดยให้ยา Protamine sulfate เข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ

มีข้อควรระวังการใช้เรวิพารินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเรวิพาริน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือส่วนประกอบอื่นในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าหลอดเลือด ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะมีเลือดออกหรือขณะตกเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจาก มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีเศษผงปนเปื้อนในยา
  • ระหว่างได้รับยานี้แล้วเกิดภาวะเลือดออกง่าย หรือพบเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลต่างๆด้วยอาจเกิดภาวะเลือดไหลออกเป็นปริมาณมาก
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเรวิพารินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เรวิพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเรวิพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเรวิพารินร่วมกับยาNitroglycerin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยาเรวิพารินด้อยลง
  • ห้ามรับประทานยาAspirin ขณะที่ได้รับยาเรวิพาริน ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเรวิพารินร่วมกับยาACE inhibitor หรือ Angiotensin II receptor antagonists เพราะเสี่ยงต่อภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูงผิดปกติ

ควรเก็บรักษาเรวิพารินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเรวิพารินตามเงื่อนไขในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เรวิพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเรวิพาริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

เรวิพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเรวิพาริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
CLIVARINE (คลิวารีน)Abbott

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Reviparin_sodium [2018,May12]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/reviparin%20sodium/?type=brief&mtype=generic [2018,May12]
  3. https://www.drugs.com/international/reviparin-sodium.html [2018,May12]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09259 [2018,May12]
  5. https://www.google.co.th/search?q=antithrombin+iii+flow+chart&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwi89tGY2aDaAhXHKo8KHXHECvYQsAQIJQ&biw=1920&bih=949#imgdii=7EELA16cQ6f7eM:&imgrc=dSUSLt8mvsMH7M: [2018,May12]