เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เยื่อหุ้มปอดอักเสบ(Pleuritis หรือ Pleurisy) คือภาวะที่เกิดการอักเสบขึ้นกับเยื่อหุ้มปอด ที่อาจจากปอดติดเชื้อโรค(ปอดอักเสบ)แล้วลามมาถึงเยื่อหุ้มปอด(ที่อาจ เป็น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ซึ่งปัจจุบัน พบจากการติดเชื้อไวรัสมากที่สุด) หรืออาจเกิดจากโรค/ภาวะอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น การอักเสบของทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่รวมถึงเยื่อหุ้มปอดจากโรคออโตอิมมูน

เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย แต่พบได้เรื่อยๆใน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ แต่พบได้น้อยในเด็ก

เยื่อหุ้มปอดอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

เยื่อหุ้มปอดอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบมีได้หลากหลาย สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปอดและเยื่อหุ้มปอดติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่
  • ปอดและเยื่อหุ้มปอดติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น วัณโรค
  • จากมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แล้วลามมาเกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบด้วย
  • จากมีลิ่มเลือดในปอด(Pulmonary embolism)
  • จากโรคออโตอิมมูน เช่น โรคเอสแอลอี โรคข้อรูมาตอยด์
  • จากการผ่าตัดหัวใจที่ขั้นตอนการผ่าตัดกระทบต่อปอด/เยื่อหุ้มปอดด้วย
  • มะเร็งปอด
  • เนื้องอกของเยื่อหุ้มปอด(Mesothelioma)
  • จากอุบัติเหตุต่อเยื่อหุ้มปอด/ปอด เช่น ถูกแทงเข้าทรวงอก
  • จากมีของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอด(Pleural effusion) เช่น น้ำ เลือด หนอง
  • จากมีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax)

เยื่อหุ้มปอดอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่สำคัญและเกิดกับผู้ป่วยทุกคน คือ เจ็บแปลบในหน้าอก(Sharp chest pain)ด้านใดด้านหนึ่ง(ด้านที่มีการอักเสบ) อาการเจ็บจะมากขึ้นและสัมพันธ์กับการหายใจเข้าและหายใจออก ซึ่งการหายใจ จะทำให้เยื่อหุ้มปอดที่อักเสบเกิดการเสียดสีกับเนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่ติดกับเยื่อหุ้มปอด จนกระตุ้นเส้นประสาทการเจ็บปวด จึงส่งผลให้เกิดการเจ็บหน้าอกเมื่อมีการหายใจ ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกนี้จะดีขึ้นเมื่อหยุดหายใจ หรือเมื่อเอามือกดตำแหน่งที่เจ็บไว้ หรือนอนตะแคงเอาด้านที่เจ็บลงเพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวของปอด/เยื่อหุ้มปอดในการหายใจ อาการเจ็บหน้าอกนี้ บางคนใช้คำอธิบายว่าเป็นการเจ็บแน่น หรือบางคนอาจมีการเจ็บร้าวไปยังไหล่และ/หรือแผ่นหลังด้านที่มีการเจ็บ/แน่นหน้าอก การเจ็บหน้าอกนี้ อาจเกิดเพียงจุดเดียว หรือทั้งข้างของปอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบว่าเป็นอยู่จุดเดียว หรือเกิดกับเยื่อหุ้มปอดทั้งข้าง

นอกจากนั้น มีอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยโดยจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • มีไข้ เมื่อปอด/เยื่อหุ้มปอดมีการติดเชื้อ/ปอดอักเสบ
  • ไอ อาจมีเสมหะ หรือ ไม่มีเสมหะก็ได้ ขึ้นกับว่ามีปอดอักเสบร่วมด้วยจากสาเหตุใด
  • ไอเป็นเลือด กรณีสาเหตุเกิดจากมะเร็งปอด หรือ วัณโรคปอด
  • ปวดข้อต่างๆ ปวดกล้ามเนื้อ และ/หรือ ปวดศีรษะ กรณีสาเหตุจากโรคออโตอิมมูน
  • หายใจลำบาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว กรณีเกิดภาวะปอดแตก หรือภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือมีเลือดในโพรงเยื่อหุ้มปอด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันหลังการดูแลตนเอง หรือเมื่ออาการเลวลง หรือมีอาการมากตั้งแต่แรก ควรต้องรีบมาพบแพมย์/มาโรงพยาบาล อาจต้องเป็นการฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

แพทย์วินิจฉัยเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้จาก ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น อาการของผู้ป่วย โรคประจำตัว การตรวจร่างกาย การตรวจฟังปอด/ฟังเสียงการหายใจด้วยหูฟัง การเอกซเรย์ปอด การตรวจเลือดเพื่อช่วยการวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน หรือดูสารก่อภูมิต้านทาน ของโรคที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุ และอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอภาพปอด หรือการส่องกล้องตรวจหลอดลม(Brochosope)ที่อาจร่วมกับการนำสารคัดหลังในหลอดลมมาตรวจเชื้อ ตรวจเพาะเชื้อ หรือเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และกรณีส่องกล้องหลอดลมแล้วพบสิ่งผิดปกติ อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้การตรวจสืบค้นต่างๆจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีผู้ป่วยไป ไม่จำเป็นต้องตรวจผู้ป่วยทุกรายเหมือนกัน

รักษาเยื่อหุ้มปอดอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาเยื่อหุ้มปอดอักเสบคือ ให้การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เป็นการรักษาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เพราะขึ้นกับสาเหตุของแต่ละผู้ป่วยที่จะแตกต่างกันออกไป หาอ่านเพิ่มเติมในวิธีรักษาของแต่ละสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com เช่น การรักษาในโรค ปอดอักเสบ/ปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ มะเร็งปอด ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะปอดแตก

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เป็นการรักษาตามอาการที่วิธีการรักษาจะเช่นเดียวกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การใช้ยาแก้ปวด/แก้เจ็บในการรักษาอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจ, การใช้ยาแก้ไอกรณีมีอาการไอมาก, การใช้ยาขยายหลอดลมกรณีมีการหด/ตีบตัวของหลอดลม, การเจาะน้ำ(รวมถึงเลือด/ ของเหลว/หนอง)ออกจากโพรงระหว่างเยื่อหุ้มปอดกรณีมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

เยื่อหุ้มปอดอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคสำหรับเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ถ้าเป็นกรณีรักษาอาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบ การรักษามักได้ผลดี รักษาอาการได้หาย แต่อย่างไรก็ดี การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยแต่ละรายจะขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุเป็นสำคัญที่รวมถึงความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุด้วย การพยากรณ์โรคในภาพรวมของผู้ป่วยแต่ละรายจึงแตกต่างกัน ตั้งแต่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เช่น กรณีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงก่อนการเจ็บป่วย ไปจนถึงการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีในกรณีสาเหตุเกิดจากมะเร็งปอด เป็นต้น

มีผลข้างเคียงจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ คือ อาการเจ็บหน้าอกมากจนอาจต้องพักในโรงพยาบาล แต่โดยทั่งไป ผลข้างเคียงจะเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากสาเหตุ ไม่ใช่ผลข้างเคียงจากอาการ/ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อป่วยด้วยเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ภายหลังพบแพทย์แล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง ถึงแม้อาการจะดีขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • นอนพักในท่าที่จะช่วยให้อาการเจ็บหน้าอกทุเลาลง เช่น นอนตะแคงเอาด้านที่เจ็บหน้าอกกดลง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อเป็นโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น เจ็บหน้าอกมากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่ที่เคยรักษาหายไปแล้ว เช่น ไอมากขึ้น กลับมามีไข้อีก
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันเยื่อหุ้มปอดอักเสบ คือ การปองกันสาเหตุ(ที่ป้องกันได้)ดังได้กล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ” ซึ่งการป้องกันเยื่อหุ้มปอดที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
  • ไม่สูบบุหรี่ ถ้าสูบอยู่ก็ควรต้องเลิกสูบ
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อปอด เช่น ไม่ขับรถโดยประมาท ขับผิดกฏจราจร เมาไม่ขับ และต้องใช้เข็มขัดนิรภัยเสมอเมื่อขับรถยนต์

บรรณานุกรม

  1. Kass, S. et al. Am Fam Physician 2007;75:1357-1364[2017,March4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pleurisy[2017,March4]
  3. http://www.medscape.com/viewarticle/768263[2017,March4]