เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ(Rhinitis) คือ การระคายเคืองและการอักเสบของเนื้อเยื่อเมือกที่บุภายในรู/โพรง/ช่องจมูก, ส่งผลให้โพรงจมูกบวมแดงและมีสารคัดหลั่ง/น้ำมูกจากเนื้อเยื่อเมือกเพิ่มมากขึ้น, จนก่ออาการที่พบบ่อยคือ แน่น/คัดจมูก มีน้ำมูก,  อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมได้ซึ่งขึ้นกับสาเหตุ เช่น จาม ไอ คันจมูก คันตา ตาแดง น้ำตาไหล เจ็บคอ/คออักเสบ  ปวดหัว จมูกได้กลิ่นลดลง หูอื้อ เจ็บหู หรืออาจมีไข้ที่มักเป็นไข้ต่ำๆ

เยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ อาจแบ่งตามสาเหตุได้เป็น 3 กลุ่ม/ชนิด คือ

  • ก. เยื่อจมูกอักเสบจากติดเชื้อ (Infectious rhinitis): เช่น จากโรคติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อ แบคทีเรีย ซึ่งโรคนี้ไม่มีรายงานสถิติเกิดแน่นอน แต่ที่พบเกิดบ่อยคือ จากโรคหวัด, จากระบบทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อไวรัส
  • ข. เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis): คือเยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากการ สูดดมสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ละอองฟาง ละอองต้นไม้ ใบหญ้า ในประเทศตะวันตก มีรายงานพบโรคนี้ได้ประมาณ 10-30% ของประชากรทุกเพศทุกวัยในแต่ละปีโดยพบบ่อยช่วงอายุ 20-40 ปี
  • ค. เยื่อจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-allergic rhinitis) หรือชื่อเดิมคือ Vasomotor rhinitis: คือเยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากเยื่อจมูกระคายเคืองต่อสารเคมี เช่น ควันต่างๆ กลิ่นต่างๆรวมถึงกลิ่นอาหาร ฮอร์โมนเพศ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (เช่น ร้อน หนาว) ความเครียด ผลข้าง เคียงจากยาบางชนิด เช่น Aspirin และยาในกลุ่มเอ็นเสด เป็นต้น

ในภาพรวม เยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบทุกชนิดย่อย เป็นโรคพบทุกเพศและทุกวัยตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคพบทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่ชัด   

 อนึ่งเยื่อจมูกอักเสบที่มีอาการอย่างรวดเร็วและหายได้ในระยะเวลาประมาณ 1 - 3 สัปดาห์เรียกว่า “เยื่อจมูกอักเสบเฉียบพลัน (Acute rhinitis)”, แต่ถ้าอาการค่อยๆเกิดหรือเกิดเรื้อรังเป็นๆหายๆนานกว่า 3 - 4 สัปดาห์ขึ้นไปและมักมีการรักษาที่ยุ่งยากและอาการมักหายได้ช้าเรียกว่า “เยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง (Chronic rhinitis)”

อะไรคือสาเหตุของโรคเยื่อจมูกอักเสบ?

เยื่อจมูกอักเสบ-01

เยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ มีสาเหตุ: เช่น

ก. เยื่อจมูกอักเสบจากติดเชื้อ: ที่พบบ่อยคือ จากโรคติดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหวัด (เช่นเชื้อ Influenza virus, Parainfluenza virus, Rhinovirus, Coronavirus, Adeno virus) นอกจากนี้ที่พบได้รองลงไปคือการติดเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดไซนัสอักเสบ (เช่นเชื้อ Sterphylococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae)

ทั้งนี้เยื่อจมูกอักเสบจากติดเชื้อที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว/เฉียบพลันและมักหายได้ภายในระยะ เวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ (เยื่อจมูกอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน) มักเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียพบได้ทั้งการติดเชื้อแบบเฉียบพลันและการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยคือ ไซนัสอักเสบที่พบเป็นได้ทั้งการติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง แต่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อแบบเรื้อรังแต่เป็นการติดเชื้อที่พบได้น้อยมาก เช่น วัณโรค  โรคเรื้อน และโรคซิฟิลิส เป็นต้น

ข. เยื่อจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้: คือเยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ (เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฟาง ใบไม้ ใบหญ้า) เช่น โรคไข้ละอองฟาง  โรคภูมิแพ้หูคอจมูก โรคภูมิแพ้ ทั้งนี้จากสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ เมื่อหายใจเข้าไปหรือสัมผัสเนื้อเยื่อเมือกต่างๆ เช่น เยื่อบุจมูก เยื่อตา/เยื่อบุตา สารก่อภูมิแพ้จะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองโดยการผลิตเซลล์ที่เรียกว่า มาสต์เซลล์ (Mast cell) เพิ่มมากขึ้นในเนื้อเยื่อเมือกที่สัมผัสสารเหล่านี้ และมาสต์เซลล์จะหลั่งสารอักเสบต่างๆ เช่น Histamine เป็นต้น ซึ่งสารอักเสบเหล่านี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อจมูกและเนื้อเยื่อเมือกต่างๆก่อให้เกิดเป็นอาการต่างๆ ของ’เยื่อจมูกอักเสบ’

ค. เยื่อจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้:  เกิดจากเยื่อจมูกได้รับการระคายเคืองจากสารเคมีต่างๆ เช่น ควัน กลิ่น (รวมถึงกลิ่นอาหาร) อาหารบางประเภทโดยเฉพาะอาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฮอร์โมนเพศ (เพราะโรคนี้พบเกิดมากในเพศหญิงจึงเชื้อว่าฮอร์โมนเพศอาจเกี่ยวข้อง)  ยาบางชนิด อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ความดันอากาศ อารมณ์/ความเครียด ฯลฯ ซึ่งกลไกการเกิดโรคกลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าสารเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดและมีของเหลวในหลอดเลือดซึมออกมาในเยื่อจมูก ส่งผลให้เยื่อจมูกบวมและมีสารคัดหลั่ง/น้ำมูกเพิ่มมากขึ้น และทำให้สารคัดหลั่งจากจมูกนี้ไหลเข้าสู่ลำคอผ่านทางด้านหลังของโพรงจมูก (Post nasal drip) ซึ่งมักเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ/ คออักเสบ

โรคเยื่อจมูกอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการจากเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ ที่พบได้ในผู้ป่วยเกือบทุกคนคือ

  • การแน่น/คัดจมูก: มักเกิดทั้ง 2 ข้างของโพรงจมูกอาจเกิดพร้อมกันหรือทีละข้างก็ได้
  • และมีน้ำมูกมากผิดปกติ ซึ่งลักษณะของน้ำมูกอาจช่วยแยกได้ว่าเป็นเยื่อจมูกอักเสบชนิดใด เช่น
    • ถ้าน้ำมูกใสหรือข้นไม่มาก สีขาว มักเป็นอาการจากเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือชนิดไม่ใช่จากแพ้ หรือจากการติดเชื้อไวรัส
    • แต่ถ้าเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย น้ำมูกมักเหนียวข้น สีไม่ขาว (เช่น เหลือง เขียว เทา ขึ้นกับชนิดแบคทีเรีย) มักมีกลิ่นเหม็นหรือคาวจัด และมักปนเลือดเรื้อรังได้

อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย: เช่น

  • จาม มักพบบ่อยในผู้ป่วยที่สาเหตุมาจากภูมิแพ้
  • ไอ มักพบในผู้ป่วยสาเหตุจากเยื่อจมูกที่สาเหตุไม่ใช่จากภูมิแพ้
  • ไข้ มักพบในผู้ป่วยที่สาเหตุมาจากเยื่อจมูกติดเชื้อ
  • อาการทางตา: มักพบในผู้มีสาเหตุจากภูมิแพ้ เช่น คันตา น้ำตาไหล ตาแดงจาก เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ ขอบตาช้ำ/ดำ ตาบวม  
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มักพบในผู้ป่วยที่สาเหตุจากภูมิแพ้และสาเหตุจากติดเชื้อ
  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ/ คออักเสบ มักพบในสาเหตุเกิดจากติดเชื้อ
  • เจ็บหูอาจข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
  • จมูกได้กลิ่นลดลง
  • ผิวหนังขึ้นผื่น คัน มักพบในสาเหตุเกิดจากภูมิแพ้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ แล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 3 - 4 วันหลัง ดูแลตนเองในเบื้องต้นตามอาการ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ  แต่ถ้าอาการเลวลงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึง 3 - 4 วัน

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อจมูกอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ ได้จาก

  •  ประวัติอาการ  ประวัติการงาน ถิ่นที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน การท่องเที่ยว ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ฤดูกาล  ประวัติการแพ้สิ่งต่างๆ 
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางหูคอจมูก

ซึ่งเมื่อวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ แพทย์อาจมีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นเยื่อจมูกอักเสบชนิดใดเพื่อการรักษาที่เหมาะสม  เช่น

  • ตรวจเลือด: ดูค่า
    • ซีบีซี /CBC
    • สารก่อภูมิต้านทาน หรือ สารภูมิต้านทาน
  • การตรวจหาเชื้อและ/หรือการเพาะเชื้อจากน้ำมูกและจากสารคัดหลั่งในโพรงหลังจมูก
  • ตรวจเอกซเรย์ภาพไซนัสกรณีสงสัยไซนัสอักเสบ  
  • ตรวจทางผิวหนังด้านโรคภูมิแพ้เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่เรียกว่า Skin prick test/Skin allergy test เป็นต้น
  • และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ส่องกล้องตรวจโพรงจมูก
    • การตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคในโพรงจมูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ,  และการรักษาตามอาการ

ก. รักษาสาเหตุ: เป็นการรักษาที่ต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสาเหตุ เช่น หยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุ (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยานั้นๆ), การรักษาโรคภูมิแพ้, การรักษาโรคหวัด, การรักษาไซนัสอักเสบ, การรักษาโรคไข้ละอองฟาง, การรักษาวัณโรคหรือซิฟิลิส, เป็นต้น แนะนำอ่านเพิ่มเติมในแต่ละโรคดังกล่าวได้ในเว็บ com

ข. รักษาตามอาการ:

  • ที่สำคัญที่สุด คือ หลีกเลี่ยงสารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ควันต่างๆ กลิ่นต่างๆ อาหารต่างๆ ยาต่างๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในถิ่นที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น สวนดอกไม้บางชนิดขึ้นกับว่าแพ้เกสรดอกไม้อะไร เป็นต้น
  • นอกจากนั้น คือ การใช้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้แพ้  ยาแก้คัน  ยาลดน้ำมูก  ยาหยอดตาที่แก้แพ้เมื่อมีอาการเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาหยอดจมูก/ยาพ่นจมูกเมื่อเยื่อจมูกบวมมาก เป็นต้น

โรคเยื่อจมูกอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ เช่น

  • มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ต้องหลีกเลี่ยงสาร/สิ่งหรือสถานที่ต่างๆส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เกิดไซนัสอักเสบจากไซนัสติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหรือเรื้อรัง
  • การเกิดก้อนเนื้อในโพรงจมูกที่เรียกว่า ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp) เมื่อมีโรคเยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง
  • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง จากเยื่อจมูกอักเสบเรื้อรังส่งผลให้เกิดคออักเสบเรื้อรังจากน้ำมูกไหลลงคอทางโพรงหลังจมูก (Post nasal drip) ส่งผลต่อเนื่องให้ท่อยูสเตเชียนที่เชื่อมระหว่าง คอกับหูชั้นกลางอักเสบ ส่งผลให้หูชั้นกลางอักเสบตามไปด้วย

โรคเยื่อจมูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไปเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ มีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถรักษาได้หาย แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิติด้วย เพื่อป้องกันโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหรือกลายเป็นเยื่อ จมูกอักเสบเรื้อรังที่การรักษาแม้จะหายได้ก็ยุ่งยากซับซ้อนเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ ที่สำคัญ เช่น

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนไม่ขาดยา หรือหยุดยาเอง
  • ไม่ซื้อยาต่างๆที่แพทย์สั่งมาใช้ต่อเนื่องเอง เพราะยาหลายชนิดที่ใช้รักษาเยื่อจมูกอักเสบ เมื่อใช้ในระยะยาวนานเกินไปจะส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมีอาการมากขึ้น ที่เรียกว่า ‘Drug rebound effects’
  • หลีกเลี่ยงสาร/สิ่งหรือสถานที่ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ
  • ไม่ใช่ยาพร่ำเพรื่อ ก่อนซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • รักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • มีการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น คัดจมูกมากขึ้น มีน้ำมูกมากขึ้น
  • น้ำมูกเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีอื่นเช่น เหลือง เขียว เทา
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้นเช่น น้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง เจ็บในโพรงจมูกมาก
  • มีผลข้างเคียงรุนแรงจากยาหรือแพ้ยาที่แพทย์สั่ง เช่น หลังใช้ยาแล้วเกิดขึ้นผื่นคันทั้งตัว คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียมาก วิงเวียน เป็นลม
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคเยื่อจมูกอักเสบอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ จะไม่สามารถป้องกันเยื่อจมูกอักเสบ/โพรงจมูกอักเสบ/จมูกอักเสบ ได้เต็มร้อย แต่ก็สามารถป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่โดย

  • รักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เป็นการลดความเครียด การติดเชื้อ และลดการใช้ยาต่างๆ
  • มีการออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี
  • ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ เป็นการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่เกิดจากยา
  • สังเกตตนเองเสมอว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของเยื่อจมูกอักเสบแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  • อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดีและในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Rhinitis [2022,Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Allergic_rhinitis [2022,Aug13]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/000813.htm [2022,Aug13]
  4. https://www.nhs.uk/conditions/non-allergic-rhinitis/ [2022,Aug13]
  5. https://www.aafa.org/rhinitis-nasal-allergy-hayfever/ [2022,Aug13]
  6. https://www.msdmanuals.com/professional/ear,-nose,-and-throat-disorders/nose-and-paranasal-sinus-disorders [2022,Aug13]