เมโฟลควิน (Mefloquine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโฟลควิน (Mefloquine หรือ Mefloquine hydrochloride) เป็นยาที่ใช้ป้องกันหรือนำมาใช้รักษาโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น โดยมีขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย ยาเมโฟลควินมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาจะเข้าสู่กระแสเลือดและตัวยาจะถูกตับเปลี่ยนเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ยาเมโฟลควินอาจส่งผลต่อระบบประสาทจนก่อให้เกิดปัญหากับอารมณ์ของผู้ป่วยจึงเป็นเหตุผลทางคลินิกที่แพทย์จะไม่ใช้ยาเมโฟลควินเพื่อป้องกันมาลาเรียกับผู้ที่มีประวัติอาการทางจิต

ทั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญๆบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาเมโฟลควินเช่น

  • ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเมโฟลควินมาก่อน
  • ต้องไม่มีอาการทางจิตประสาทต่างๆเช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีประวัติป่วยด้วยโรคลมชัก ด้วยตัวยาสามารถกระตุ้นให้อาการทางจิตประสาทหรือภาวะลมชักเกิดขึ้นได้และอาจมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาบางตัวเช่น Chloroquine, Halofantrine (ยาอีกขนิดที่ใช้ต้านมาลาเรีย), Ketoconazole, Quinidine และ Quinine ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างตามมาเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเกิดอาการลมชัก ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าตนเอง มีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้างก่อนการรับประทานเมโฟลควิน
  • ต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน

อนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มียาต่อต้านโรคมาลาเรียตัวใดสามารถรักษาอาการป่วยด้วยโรคมาลาเรียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้บริโภคควรใช้มาตรการอื่นและหลีกเลี่ยงมิให้ยุงกัดหรือไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีมาลาเรียชุกชุมโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยได้รับยาเมโฟลควินอาจมีอาการข้าง เคียงที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้บ่อยอาทิ ท้องเสีย วิงเวียน ปวดศีรษะ และเบื่ออาหาร

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาเมโฟลควินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้บรรจุให้ยาเมโฟลควินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเงื่อนไขให้ใช้รักษามาลาเรียตามข้อกําหนดในแนวทางการบําบัด รักษาหรือการใช้ยาฉบับปัจจุบันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และห้ามใช้เป็นยาป้องกัน

ที่สำคัญการใช้ยาเมโฟลควินได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมจะต้องผ่านการคัดกรองและยืนยันจากแพทย์ก่อนเสมอ ผู้บริโภคไม่ควรไปซื้อหายานี้มาใช้รับประทานด้วยตนเอง ไม่เพียงจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียแต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องอันตรายจากตัวยาที่สามารถเกิดขึ้นได้หากใช้ไม่ถูกต้อง

เมโฟลควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมโฟลควิน

ยาเมโฟลควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือ บำบัดรักษาอาการป่วยด้วยโรคมาลาเรียอันมีสาเหตุจากเชื้อมาลาเรียชนิด P.vivax (Plasmodium vivax) และ P.falciparum (Plasmodium falciparum) โดยมีอาการป่วยจากระดับต่ำไปจนถึงระดับกลาง

*อนึ่งประเทศไทยระบุไม่ให้ใช้ยาเมโฟลควินเป็นยาป้องกันมาลาเรีย

เมโฟลควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมโฟลควินคือ ตัวยาจะรบกวนกระบวนการเปลี่ยนสารฮีโมโกลบิน(จากเลือดมนุษย์) ในเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อเชื้อมาลาเรีย เป็นเหตุให้ปัจจัยของการเจริญเติบโตของเชื้อฯขาดหายไป ส่งผลให้เชื้อฯหยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เมโฟลควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโฟลควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด

เมโฟลควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมโฟลควินมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1,250 มิลลิกรัมหลังอาหารครั้งเดียว
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป: รับประทานยา 20 - 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้อาจเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงได้ ในทางคลินิกจึงยังไม่มีการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้

* อนึ่ง ในทางคลินิกแพทย์อาจแบ่งการรับประทานยานี้เป็นหลายครั้งต่อวันตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละกรณี

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมโฟลควิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโฟลควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโฟลควินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเมโฟลควินตรงเวลา

เมโฟลควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมโฟลควินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อภาวะทางอารมณ์: เช่น มีอารมณ์แปรปรวน พฤติกรรมต่างๆเปลี่ยน ฝันแปลกๆฝันร้าย วิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มีเสียงในหู/หูอื้อ เกิดอาการลมชัก
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นช้าหรือเต้นเร็วกว่าปกติ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ/Thrombocytopenia โลหิตจาง มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ/ Leukopenia หรือภาวะเม็ดเลือดขาวสูง/Leukocytosis และเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophilต่ำ/Agranulocytosis
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ผมร่วง ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า และทำให้มีการมองเห็นไม่เหมือนปกติ
  • อื่นๆ: อาจพบอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้เมโฟลควินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโฟลควินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมโฟลควิน
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • หากอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยานี้ไปแล้ว 48 - 72 ชั่วโมงให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ยาเมโฟลควินจะลดประสิทธิภาพของวัคซีนประเภท Live vaccines (เชื้อโรคที่นำมาทำวัคซีนยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนกำลังลงจนไม่ก่อโรคในภาวะร่างกายปกติเช่น วัคซีนโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม) ก่อนใช้ยาเมโฟลควินควรต้องแจ้งแพทย์ว่าอยู่ในช่วงเพิ่งรับวัคซีนมาหรือไม่
  • ผู้ที่รับประทานยานี้อาจเกิดมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ญาติควรเฝ้าระวังโดยเฉพาะเรื่องการทำร้ายตนเอง
  • หลังการใช้ยาเมโฟลควินควรต้องรออีกประมาณ 15 สัปดาห์จึงจะใช้ยาบางตัวได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงต่างๆติดตามมา กลุ่มยาที่กล่าวถึงที่ต้องระวังเช่น Halofantrine และ Ketoconazole
  • หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียชุกชุมโดยไม่จำเป็น
  • ป้องกันยุงกัดโดยนอนในมุ้ง ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้โลชั่นทากันยุง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมโฟลควินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมโฟลควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโฟลควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมโฟลควินร่วมกับยา Tramadol ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะลมชักติดตามมา
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาเมโฟลควินร่วมกับยา Ketoconazole ด้วยจะทำให้ระดับของยาเมโฟลควินในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาเมโฟลควินร่วมกับยา Halofantrine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรเว้นระยะเวลาการใช้ให้ห่างกันอย่างน้อย 15 สัปดาห์ขึ้นไป

ควรเก็บรักษาเมโฟลควินอย่างไร?

ควรเก็บยาเมโฟลควินในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมโฟลควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโฟลควินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mequin (เมควิน)Atlantic Lab

อนึ่งยาเมโฟลควินที่จำหน่ายในประเทศอื่นมียาชื่อการค้าอื่นเช่น Lariam, Apo-Mefloquine

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/mefloquine.html [2016,Feb13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Mefloquine [2016,Feb13]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mequin/?type=brief [2016,Feb13]
  4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Mefloquine [2016,Feb13]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/mefloquine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Feb13]