เมโทคาร์บามอล (Methocarbamol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโทคาร์บามอล(Methocarbamol) เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ ทางคลินิกใช้บำบัดรักษาอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลาย และวางจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Robaxin” เป็นครั้งแรก ยานี้มีฤทธิ์ปิดกั้นการนำกระแสประสาทหรือนำความรู้สึกเจ็บ/ปวดไปยังสมองของผู้ป่วย การใช้ยานี้ได้สัมฤทธิ์ผลจะต้องอาศัยการพักผ่อนอย่างเพียงพอพร้อมกับทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและฟื้นสภาพได้เร็วยิ่งขึ้น ขนาดรับประทานโดยทั่วไปของยานี้อยู่ที่ 3–6 กรัม/วัน แต่สำหรับการช่วยเหลือบำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคบาดทะยัก แพทย์อาจใช้ขนาดยานี้สูงสุดถึง 24 กรัม/วัน

ในตลาดยา ยังพบว่า ยาเมโทคาร์บามอลสามารถนำไปผสมกับยาAcetaminophen หรือ Paracetamol และจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Robaxacet และ Tylenol Body Pain Night” ขณะที่ “Robax platinum” เป็นชื่อการค้าของยาเมโทคาร์บามอลกับยาIbuprofen และ “Robaxisal” เป็นชื่อการค้าของสูตรผสมระหว่างเมโทคาร์บามอลกับยาAspirin

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมโทคาร์บามอล มีทั้งแบบรับประทานและยาฉีด ซึ่งมีวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกัน โดยแบบรับประทานจะใช้คลายกล้ามเนื้อเพื่อระงับอาการปวด ผู้ป่วยสามารถนำกลับมารับประทานที่บ้านได้ แต่รูปแบบยาฉีดมักใช้กับกรณีอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรคบาดทะยักซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็วเพื่อบำบัดรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย

ตัวยาเมโทคาร์บามอลสามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนานประมาณ 1.14–1.24 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกตับทำลายโครงสร้างของตัวยาและขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อจำกัดของยาเมโทคาร์บามอลในการใช้กับผู้ป่วยนั้นมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยในภาวะโคม่า ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีบาดแผลที่สมอง ผู้ป่วยโรคลมชักหรือมีประวัติเป็นลมชัก
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ยาเมโทคาร์บามอลสามารถรบกวน สมาธิ ความคิดของผู้ป่วย ขณะได้รับยานี้ จึงควรเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา ด้วยจะเกิดอาการวิงเวียนมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยาเมโทคาร์บามอลโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาเมโทคาร์บามอลเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งนี้เราสามารถพบเห็นการใช้ยาเมโทคาร์บามอลได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐ-เอกชน และมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

เมโทคาร์บามอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมโทคาร์บามอล

ยาเมโทคาร์บามอล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลาย
  • รักษาการอักเสบที่ข้อไหล่ และและกระดูกสันหลังอักเสบ
  • บำบัดการเป็นตะคริว

เมโทคาร์บามอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมโทคาร์บามอล ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ทางคลินิกได้มีข้อสรุปว่า ยาเมโทคาร์บามอลจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง โดยปิดกั้นการรับสัญญาณความรู้สึกที่ส่งมายังสมอง แต่มิได้ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อลายโดยตรง

เมโทคาร์บามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เมโทคาร์บามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Methocarbamol 500 และ 750 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Methocarbamol 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และมีขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร/ขวด

เมโทคาร์บามอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเมโทคาร์บามอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบรรเทาอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1,500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2–3 วัน กรณีมีอาการรุนแรง แพทย์อาจปรับเพิ่มเป็นรับประทานยา 8 กรัม/วัน จากนั้น แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาเป็น 4,000–4,500 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ทุก6-8 ชัวโมง ทั้งนี้ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที

    กรณียาฉีด: ฉีดยา 1,000 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดทุก 8 ชั่วโมง แต่ห้ามใช้ยาเกิน 3 กรัม/วัน กรณีบาดทะยักเท่านั้นที่แพทย์จะใช้ยาฉีดเกิน 3 วันต่อเนื่อง

  • เด็ก: การใช้ยา และขนาดยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับรักษาอาการโรคบาดทะยัก:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1–2 กรัม ในลักษณะแบบ IV/Intravenous tubing จากนั้นหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 1–2 กรัม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยา 3 กรัมในช่วงเริ่มต้น การให้ยาลักษณะนี้ แพทย์อาจต้องกระทำทุกๆ 6 ชั่วโมง จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถใส่ท่อให้อาหารทางสายยางผ่านทางจมูก(Nasogastric tube)ได้ จึงจะเปลี่ยนการให้ยาเป็นยากิน โดยบดยานี้ที่เป็นเม็ดให้เป็นผงละเอียดแล้วกระจายตัวยาในน้ำหรือในน้ำเกลือแล้วส่งผ่านยาเข้าทางท่อให้อาหาร
  • เด็ก: เริ่มต้นฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำครั้งละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 500 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร และอาจต้องฉีดยาให้ผู้ป่วยทุก6 ชั่วโมง โดยขนาดการให้ยาสูงสุด 1.8 กรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร เป็นเวลาต่อเนื่อง3 วัน

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ด้วยตัวยาสามารถกระตุ้นอาการลมชักให้กำเริบขึ้นได้

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาเมโทคาร์บามอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโทคาร์บามอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโทคาร์บามอล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

เมโทคาร์บามอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมโทคาร์บามอล สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน เป็นลม กล้ามเนื้อของร่างกายทำงานไม่ประสานกัน เกิดอาการชักซึ่งมักเป็นกรณีของการให้ยานี้ทางหลอดเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดลมพิษ ผื่นคัน ปวดบริเวณที่ฉีดยา
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ หนังตากระตุก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คัดจมูก หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร ท้องอืด
  • ผลต่อไต: เช่น ส่วนประกอบของยาเมโทคาร์บามอลชนิดฉีดจะมี PEG 300(Polyethylene glycol 300, สารเพิ่มประสิทธิภาพการคงตัวของยา) สารประกอบชนิดนี้สามารถเพิ่มสภาวะความเป็นกรดของเลือด(เลือดเป็นกรด) และทำให้เกิดการคั่งของสารยูเรียในร่างกายตามมา

มีข้อควรระวังการใช้เมโทคาร์บามอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโทคาร์บามอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเมโทคาร์บามอลโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามรับประทานยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการของสมองที่โดนกดการทำงาน(กดสมอง) ทำให้เกิดภาวะ คลื่นไส้ ง่วงนอน ตาพร่า ความดันโลหิตต่ำ มีอาการชัก และเกิดอาการโคม่า กรณีพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมโทคาร์บามอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมโทคาร์บามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโทคาร์บามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมโทคาร์บามอลร่วมกับ ยาPyridostigmine เพราะอาจทำให้ประสิทธิผลการรักษาของยา Pyridostigmine ด้อยลงไป
  • ห้ามรับประทานยาเมโทคาร์บามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเมโทคาร์บามอลร่วมกับยา Hydrocodone , Codeine เพราะจะเพิ่มฤทธิ์กดการทำงานของสมองของยาดังกล่าวที่ใช้ร่วมกันมากขึ้น และตามมาด้วยอาการหายใจขัด เข้าขั้นโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมโทคาร์บามอลร่วมกับ ยาTriprolidine เพราะจะทำให้มีอาการวิงเวียนมากขึ้น เกิดภาวะง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบาก

ควรเก็บรักษาเมโทคาร์บามอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเมโทคาร์บามอลภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมโทคาร์บามอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโทคาร์บามอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Manobaxine (มาโนแบ็กซีน)March Pharma
Robaxin (โรแบ็กซิน) Auxilium Pharmaceuticals, Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่ผสมรวมกับยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ เช่น Skelex, Carbacot, Flexinol, Methoprofen, Mylax, Robinaxol, Unifen MR

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methocarbamol [2018,March24]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/methocarbamol/?type=brief&mtype=generic [2018,March24]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/manobaxine/?type=brief [2018,March24]
  4. https://www.drugs.com/dosage/methocarbamol.html [2018,March24]
  5. https://www.drugs.com/sfx/methocarbamol-side-effects.html [2018,March24]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2004/11790slr046_robaxin_lbl.pdf [2018,March24]
  7. http://www.medindia.net/drug-price/methocarbamol-combination.html [2018,March24]